กิจวัตร ๑๐ อย่าง
กิจวัตร ๑๐ อย่าง
วันหนึ่ง ผมเดินออกกำลัง ได้ยินคนคุยกัน จับความเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า คนที่เข้าไปบวชเป็นพระนี่ วันๆ ทำอะไรกันมั่ง
ผมว่านี่เป็นคำถามที่น่าคิดนะครับ
เราเห็นพระคุ้นตาคุ้นใจ จนอาจจะลืมนึกไปว่าพระท่านมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
ความจริงคำถามนี้ท่านถาม-ตอบกันมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
หน้าที่ของพระ-ท่านเรียกว่า “ธุระ”-มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ
๑ ศึกษาให้รู้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร แล้วเว้นข้อควรเว้น ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามคำสอน เรียกว่า “คันถธุระ” (คัน-ถะ-ทุ-ระ) แปลว่า หน้าที่เรียนคัมภีร์
๒ ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้สิ้นกิเลสตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” (วิ-ปัด-สะ-นา-ทุ-ระ) แปลว่า หน้าที่ฝึกใจให้รู้แจ้งจริง
พูดสรุปด้วยภาษาง่ายๆ ว่าอย่างนั้น
บวชแล้วต้องทำงาน ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง
เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นและง่ายต่อการปฏิบัติ โบราณาจารย์ของไทยท่านจึงเอาธุระ ๒ อย่างนั้นมาแจงเป็นกิจวัตร
เรียกกันมาว่า “กิจวัตร ๑๐ อย่างของภิกษุ” มีรายการดังนี้ –
————-
๑ ลงอุโบสถ
————-
หมายถึง ประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ คือศีล ๒๒๗ ข้อ ทุกครึ่งเดือน ตามกำหนดที่ถือกันมาก็คือในวัน ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำกรณีเดือนขาด เรียกสั้นๆ ว่า “ลงโบสถ์”
ท่านว่าในศาสนาของพระพุทธเจ้าบางองค์ในอดีตกาล ๗ ปีพระสงฆ์ลงโบสถ์กันหนหนึ่ง แต่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์นี้กำหนด ๑๕ วันลงโบสถ์หนหนึ่ง
———————-
๒ บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
———————-
พระต้องออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน กิจข้อนี้ท่านสอนไว้ตั้งแต่วันแรกที่บวช เป็นการยืนยันว่าพระดำรงชีพอยู่ได้ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ให้ตระหนักว่าต้องทำตนเป็นคนเลี้ยงง่าย และต้องทำหน้าที่ของพระให้เต็มที่ อย่าให้เสียข้าวสุกชาวบ้านเปล่าๆ
พระบางรูปที่ไม่ออกบิณฑบาต ต้องมีคำอธิบายได้ตามพระวินัยว่าทำไม
———————
๓ สวดมนต์ไหว้พระ
———————
ตามปกติ พระในเมืองไทยจะชุมนุมกันเพื่อสวดมนต์ไหว้พระวันละ ๒ เวลา คือเช้าครั้งหนึ่ง และเย็น (หรือค่ำ) อีกครั้งหนึ่ง เรียกรู้กันว่า ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ถ้าในระหว่างเข้าพรรษา ๓ เดือนก็จะเพิ่มพิเศษขึ้นอีกเวลาหนึ่งในเวลาตีสี่
———————————–
๔ กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
———————————–
ข้อนี้ก็คือทำความสะอาดที่อยู่ และทำความสะอาดวัด โดยมากท่านมักจะทำทุกวันในเวลาบ่ายๆ กวาดวัดเสร็จ สรงน้ำ ได้เวลาทำวัตรเย็นพอดี
—————–
๕ รักษาผ้าครอง
—————–
ข้อนี้เป็นการปฏิบัติตามพระวินัย ผ้าไตรจีวรเป็นบริขารประจำตัวที่จำเป็นมาก สมัยโบราณผ้าสำหรับทำไตรจีวรหายาก จึงต้องใช้อย่างประหยัด คือน้อยชิ้นที่สุด ตามวินัยกำหนดให้มีเพียง ๓ ชิ้น (ไตรจีวร = ผ้าสามผืน) และต้องใช้ให้คุ้มค่า ชุดหนึ่งต้องใช้ให้ได้ ๑ ปี การทอดกฐินปีละครั้งก็คือเป็นวาระผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดใหม่ประจำปีนั่นเอง
รักษาผ้าครองก็คือดูแลให้ไตรจีวรอยู่กับตัวเสมอ มีศีลข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่เอาไตรจีวรติดตัวไว้ครบชุดแม้เพียงคืนเดียวก็ต้องอาบัติ
——————
๖ อยู่ปริวาสกรรม
——————
ปริวาส-เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นผิดในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ เป็นการลงโทษแบบอารยชน เช่นตัดสิทธิ์บางอย่างเป็นต้น และให้อยู่ในความควบคุมของคณะสงฆ์ เทียบคล้ายกับกักบริเวณทำนองนั้น
พระสมัยก่อนท่านอ้างว่า แม้ไม่ได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสก็ควรอยู่ปริวาสเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล ผิดหรือไม่ผิดไม่แน่ใจ แต่มายอมรับโทษไว้ก่อน เกินดีกว่าขาด-ประมาณนั้น
—————————–
๗ โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ
—————————–
ข้อนี้คำเก่าท่านเรียก “กายบริหาร” ไม่ได้แปลว่าทำท่าดัดตัวหรือยืดเส้นยืดสาย แต่หมายถึงดูแลร่างกายให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เป็นนิตย์ จะรวมไปถึงการรักษาสุขภาพให้ปกติด้วยก็ได้
วันที่เรียกกันว่า “วันโกน” ก็สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามกิจวัตรข้อนี้
——————————————-
๘ ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
——————————————-
ข้อนี้เป็นกิจที่สำคัญมาก คันถธุระทั้งหมดอยู่ในข้อนี้ เป็นที่มาของคำว่า “บวชเรียน” คือบวชแล้วต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้เข้าใจชัดเจน ที่ยก “สิกขาบท” ขึ้นมาเป็นหลักก็เพราะเป็นศีลของพระ จำเป็นต้องรู้ ไม่รู้ก็ทำผิด ทำผิดก็เพราะไม่รู้ จึงต้องเรียนให้รู้ นอกจากสิกขาบทแล้วคำสอนอื่นๆ ก็ต้องศึกษาด้วย
เรื่องอื่นๆ จะศึกษาหรือไม่ศึกษา ไม่ว่ากัน แต่เรื่องพระธรรมวินัย ต้องศึกษา ไม่ศึกษาถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง
ส่วน “ปฏิบัติพระอาจารย์” หมายถึงพระที่บวชยังไม่เกิน ๕ พรรษา ตามหลักพระวินัยต้องอยู่ในความปกครองของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อท่านจะได้อบรมสั่งสอนการควรเว้นควรประพฤติทั้งปวงให้เข้าใจ เมื่ออยู่ในความปกครองของท่านก็ต้องปฏิบัติกิจต่างๆ ที่ศิษย์จะพึงปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ ช่วงเวลาที่เข้าปฏิบัติกิจต่อท่านนี่เองเป็นโอกาสที่ท่านจะแนะนำสั่งสอนไปด้วยในตัวว่าอะไรควรทำอย่างไร ทำอย่างไรผิด ทำอย่างไรถูก คือสอนกันด้วยการกระทำจริง (learning by doing)
ศึกษาสิกขาบทเหมือนภาคทฤษฎี ปฏิบัติพระอาจารย์เหมือนภาคปฏิบัติ
อาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติพระศาสนาที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันมาโดยทางนี้มากที่สุด คือศิษย์รับถ่ายทอดมาจากอาจารย์ แล้วศิษย์ก็ถ่ายทอดไปยังศิษย์รุ่นต่อๆ ไป
————-
๙ เทศนาบัติ
————-
คำนี้แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “แสดงอาบัติ” (เทศนา = แสดง) คำเก่าพูดว่า “ปลงอาบัติ” เป็นกิจอย่างหนึ่งของพระ มีแนวคิดทำนองเดียวกับการอยู่ปริวาสกรรม กล่าวคือ ปริวาสกรรมเป็นขั้นตอนการเปลื้องความผิดอันเกิดจากอาบัติหนัก แต่เทศนาบัติเป็นขั้นตอนการเปลื้องความผิดอันเกิดจากอาบัติเบา ซึ่งจะพ้นผิดได้ด้วยการเปิดเผยการกระทำผิดต่อเพื่อนพระด้วยกัน ลงท้ายด้วยรับปากว่าจะสำรวมระวังไม่กระทำผิดเช่นนั้นอีกต่อไป
พระสมัยก่อนนิยมแสดงอาบัติเมื่อฉันเช้าเสร็จแล้วตอนหนึ่ง ก่อนจะทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นอีกตอนหนึ่ง รวมทั้งก่อนจะลงโบสถ์ด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นเวลาที่พระมาอยู่พร้อมหน้ากัน เหมาะที่จะเปิดเผยความผิดของตนให้เพื่อนพระด้วยกันรับทราบ
เทศนาบัติไม่ได้มีเจตนาจะให้ประมาทชะล่าใจไปว่าทำผิดก็ไม่เป็นไร แสดงอาบัติเสียแล้วก็พ้นผิด แต่เป็นการย้ำเตือนให้สังวรระวังตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ
—————————————–
๑๐ พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น
—————————————–
ปัจจเวกขณะ แปลว่า การไตร่ตรองใคร่ครวญในกิจที่กำลังทำ
เวลาพระจะฉันภัตตาหาร ๑ นุ่งห่มจีวร ๑ เข้าอยู่อาศัยในกุฎิที่พัก ๑ ฉันยาเมื่ออาพาธหรือป้องกันโรค ๑ ทั้ง ๔ เวลานี้จะต้องไตร่ตรองใคร่ครวญก่อนว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อมิให้เกิดความประมาทเมามัวเพลิดเพลินติดใจในสิ่งนั้นๆ เรียกว่า พิจารณาปัจเวกขณะ บางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า “ปัจจเวกขณ์” (มักออกเสียงว่า ปัด-จะ-เหฺวก) ถ้าไม่ทำเช่นนี้ถือว่าประมาท บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ในฐานะเป็นหนี้ชาวบ้าน ไม่สมกับที่เข้ามาบวช การพิจารณาเช่นนี้นับเข้าในภาวนาชนิดหนึ่ง
คำว่า “เป็นต้น” แสดงเจตนาว่าให้พิจารณาธรรมะอื่นๆ ด้วย ว่าโดยเนื้อหานี่ก็คือ “วิปัสสนาธุระ” นั่นเอง
————
ตอนท้ายของกิจวัตร ๑๐ อย่าง มีคำสรุปว่า –
กิจวัตร ๑๐ เหล่านี้เป็นกิจใหญ่ ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัด และจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน
————
เคยได้ยินพระสมัยใหม่ตั้งคำถามว่า กิจวัตร ๑๐ อย่างดังว่านี้มีมาในพระไตรปิฎกหรือเปล่า
ไม่ทราบเจตนาในการตั้งคำถาม แต่เดาว่า-เพื่อจะโต้แย้งว่า ถ้าไม่ได้มีมาในพระไตรปิฎก ก็ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม
คำตอบก็คือ กิจวัตร ๑๐ อย่างไม่ได้มีมาเป็นชุดสำเร็จรูปในพระไตรปิฎกเหมือนหลักธรรมทั้งหลาย เป็นแต่เพียงโบราณาจารย์-เข้าใจว่าในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง-ท่านเก็บจากตรงนั้นตรงโน้นมารวมกันเข้าไว้ แต่อาจชี้ได้ทั้งหมดว่าข้อไหนมีอยู่ตรงไหนในพระไตรปิฎก
ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ากิจวัตรทั้ง ๑๐ นี้มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า
แต่อยู่ที่ว่า กิจวัตรทั้ง ๑๐ นี้ควรที่พระจะปฏิบัติตามหรือเปล่า
ถ้าไม่ปฏิบัติกิจวัตรเหล่านี้ วันๆ ท่านจะทำอะไร
ท่านจะเอาอะไรที่มีในพระไตรปิฎกมาปฏิบัติกันบ้าง
ประเด็น-ต้องมีมาในพระไตรปิฎก-นี้ บางสำนักตีกรอบให้แคบเข้าไปอีกว่า-ต้องเฉพาะที่เป็นพระดำรัสตรัสเองของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “พุทธวจนะ” เท่านั้น อื่นจากนี้ถึงจะมีมาในพระไตรปิฎก ก็ไม่เอา
ผมเคยได้ยินพระเถระรูปหนึ่งท่านย้อนให้ว่า-ถ้าเช่นนั้นคุณก็ต้องกลับใช้ตะเกียงใช้ไต้ จะใช้ไฟฟ้าไม่ได้ เพราะไฟฟ้าไม่มีในพระไตรปิฎก
โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก พวกนี้ ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีในพระไตรปิฎก
————
ปัญหาที่ควรถามกันข้อหนึ่งก็คือ ถ้าพระท่านไม่ทำกิจวัตรเหล่านี้ ชาวบ้านอย่างเราๆ จะทำอย่างไร
คำตอบก็คือ พระท่านไม่ทำหน้าที่ของท่าน ก็เป็นความบกพร่องของท่าน
อย่าเอาความบกพร่องของท่านมาเป็นเหตุให้เราบกพร่องต่อหน้าที่ของเราไปด้วย
ท่านไม่ทำ เราก็ทำหน้าที่ของเราไป
การศึกษาเรียนรู้เรื่องพวกนี้ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของเราด้วยเช่นกัน จะได้รู้ทันพระ และจะได้อุปถัมภ์บำรุงสนับสนุนพระให้ถูกทาง
ที่ยังมีผู้สนับสนุนพระในทางผิดๆ สาเหตุใหญ่เกิดจากความไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรพระทำได้ อะไรทำไม่ได้
ถ้าญาติโยมรู้ทันกันมากๆ พระก็ทำผิดไม่ถนัด
เป็นการช่วยป้องกันพระไม่ให้ทำผิดได้ทางหนึ่ง
ผมเชื่อว่านี่คือวิธีช่วยกันรักษาพระศาสนาที่ถูกที่ตรงที่สุด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ กันยายน ๒๕๕๘