บาลีวันละคำ

ไศล (บาลีวันละคำ 1,234)

ไศล

โขดเขินเนิน…

คำที่อ่านผิดจนกลายเป็นถูก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไศล, ไศล– [สะไหฺล, ไสละ-] : (คำนาม) เขาหิน เช่น โขดเขินเนินไศล. (ส. ไศล).”

โปรดสังเกตว่า “ไศล” คืออยู่คำเดียว พจน.54 บอกคำอ่านว่า สะ-ไหฺล

แต่ “ไศล-” คือมีคำอื่นสมาสข้างท้าย อ่านว่า ไส-ละ-

พจน.54 บอกว่า ไศล เป็นคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ไศล : (คำคุณศัพท์) เต็มไปด้วยภูเขา, อันล้วนแล้วหรือเต็มไปด้วยศิลา; mountainous, stone or rocky; – (คำนาม) บรรพต; บรรพตนิวาสิน, ชาวดอย; ศิลาชตุ หรือน้ำมันศิลา; ศิลากุสุม; a mountain; a mountaineer; bitumen or petroleum; storax.”

โปรดสังเกตด้วยว่า สันสกฤตเขียนคำนี้เป็น “ไศล” ต้องอ่านว่า ไส-ละ

ถ้าจะอ่านว่า สะ-ไหฺล ต้องเขียนเป็น “ไศฺล” (สะ-ไล) มีจุดใต้ ศ

ไศล” ตรงกับบาลีว่า “เสล” อ่านว่า เส-ละ

เสล” รากศัพท์มาจาก สิล (หิน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ สิ-(ล) เป็น เอ (สิ > เส)

: สิล + = สิลณ > สิล > เสล แปลตามศัพท์ว่า “กองหิน” “ภูมิภาคที่มีหินอยู่มาก

เสล” ถ้าแจกวิภัตติเป็นพหูพจน์ จะเป็น “เสลา

พจน.54 บอกไว้ว่า –

เสล-, เสลา ๑ [-ละ-, -ลา] : (คำนาม) ภูเขา, หิน. (คำวิเศษณ์) เต็มไปด้วยหิน. (ป.; ส. ไศล).”

เสล-” พจน.54 บอกคำอ่านว่า เส-ละ ไม่ใช่ สะ-เหฺล

เสลา” พจน.54 บอกคำอ่านว่า เส-ลา ไม่ใช่ สะ-เหฺลา

โปรดเทียบกับคำไทยอีกคำหนึ่ง คือ –

เสลา ๒ : [สะเหฺลา] (คำนาม) ชื่อไม้ต้นชนิด Lagerstroemia tomentosa Presl ในวงศ์ Lythraceae ใบมีขน ดอกสีขาว ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง.”

ทั้งสองคำเขียน “เสลา” เหมือนกัน แต่บอกคำอ่านไม่เหมือนกัน

เสลา” ที่แปลว่า ภูเขา, หิน พจน.54 บอกคำอ่านว่า เส-ลา

เสลา” ที่แปลว่า ภูเขา, หิน ไม่ได้อ่านว่า สะ-เหฺลา

เสล, เสลา คือ ไศล

ดังนั้น “ไศล” จึงไม่ได้อ่าน สะ-ไหฺล แต่ต้องอ่านว่า ไส-ละ

เนื่องจากคนส่วนมากไม่ได้คำนึงถึงที่ไปที่มาของศัพท์ จึงอ่านไปตามความคุ้นเคย

คำที่น่าจะเทียบเคียงได้ เช่น –

ไสว อ่านว่า สะ-ไหฺว ไม่ใช่ ไส-วะ

ไฉน อ่านว่า ฉะ-ไหฺน ไม่ใช่ ไฉ-นะ

ดังนั้น เมื่อเห็น “ไศล” ก็จึงพากันอ่านว่า สะ-ไหฺล ตามกันไป ในที่สุดอ่านผิดกลายเป็นถูกจนแก้ไม่ได้ พจน.54 ก็ต้องยอมรับว่าเป็นคำอ่านที่ถูกต้องไปด้วย

: คำ – อ่านผิดกลายเป็นถูก อาจมีได้

: กรรม – ทำผิดกลายเป็นถูก ไม่มีเลย

15-10-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย