มิจฉาทิฐิ (บาลีวันละคำ 1,249)
มิจฉาทิฐิ
อ่านว่า มิด-ฉา-ทิด-ถิ
ประกอบด้วย มิจฉา + ทิฐิ
(๑) “มิจฉา”
บาลีเขียน “มิจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า มิด-ฉา เป็นศัพท์จำพวกนิบาต ไม่แจกด้วยวิภัตติ คือคงรูปเดิมเสมอ
“มิจฺฉา” แปลว่า “ผิด” ถ้าอยู่ตามลำพังมีฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์ มีความหมายว่า อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong –, false)
(๒) “ทิฐิ”
บาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ
: ทิสฺ > ทิ + ติ > ฏฺฐิ : ทิ + ฏฺฐิ = ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก”
โปรดสังเกตว่า คำนี้บาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” (ทิด-ถิ) มี ฏ ปฏักสะกด ภาษาไทย (ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ตัด ฏ ออก เขียนเป็น “ทิฐิ” แต่อ่านเท่าบาลี คืออ่านว่า ทิด-ถิ ไม่ใช่ ทิ-ถิ
ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด
ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิด “สมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก
มิจฺฉา + ทิฏฺฐิ = มิจฺฉาทิฏฺฐิ > มิจฉาทิฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็นผิด”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “มิจฉาทิฐิ” เป็นอังกฤษว่า wrong view; false view.
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“มิจฉาทิฐิ : คำนาม) ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มิจฉาทิฏฐิ : เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ….”
………
เพื่อความรู้ทัน พึงสดับตัวอย่างทฤษฎีที่เป็น “มิจฉาทิฐิ” ดังต่อไปนี้ –
………
ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้น (โอปปาติกะ) ไม่มี
สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก
คนเรานี้เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ห้าจะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิราบ
การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกพูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เมื่อร่างกายสลายทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่มีอะไรไปเกิด
………
(สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 96)
ด้วยเหตุฉะนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า –
นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ
ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ ยถยิทํ ภิกฺขเว มิจฺฉาทิฏฺฐิ
มิจฺฉาทิฏฐิปรมานิ ภิกฺขเว วชฺชานีติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมอย่างหนึ่งอันอื่นที่มีโทษมากเหมือนอย่างมิจฉาทิฐิเลย กระบวนโทษทั้งหลาย มิจฉาทิฐิมีโทษอย่างยิ่ง
(อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๙๓)
30-10-58