สรีระสำราญ (บาลีวันละคำ 1,256)
สรีระสำราญ
อ่านว่า สะ-รี-ระ-สำ-ราน
ประกอบด้วย สรีระ + สำราญ
(๑) “สรีระ”
บาลีเขียน “สรีร” อ่านว่า สะ-รี-ระ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เป็นไป, เบียดเบียน) + อีร ปัจจัย
: สรฺ + อีร = สรีร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ร่างที่เป็นไปตามปกติ” คือเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกสลายไปตามธรรมดา
(2) “ร่างที่เบียดเบียนลม” คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวกเนื่องจากมาปะทะกับร่าง
“สรีร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) ร่างกาย, โครงร่างของสิ่งใดๆ ที่เป็นวัตถุ (the body, the physical body)
(2) ร่างกายคนตาย, ซากศพ (a dead body, a corpse)
(3) กระดูก (the bones)
(4) ส่วนของร่างกายของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (relics)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สรีร-, สรีระ : (คำนาม) ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).”
“สรีร” สันสกฤตเป็น “ศรีร” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศรีร : (คำนาม) กาย, ร่าง, ตัว; the body.”
(๒) “สำราญ”
เป็นคำไทย ผู้รู้ทางภาษาบอกว่าไทยได้มาจากคำเขมร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สำราญ : (คำกริยา) สุขสบาย เช่น วันอาทิตย์จะนอนให้สำราญเลย. (คำวิเศษณ์) ที่ทำให้มีความสุขสบาย เช่น เรือสำราญ. (ข. สํราล).”
สรีระ + สำราญ = สรีระสำราญ
อภิปราย :
๑. สรีระสำราญ เป็นการประสมคำระหว่าง สรีระ + สำราญ มีปัญหาว่า ควรเขียน “สรีระสำราญ” (มีประวิสรรชนีย์ที่ –ระ) หรือ “สรีรสำราญ” (ไม่ประวิสรรชนีย์ที่ –ร)
ในที่นี้เขียน “สรีระสำราญ” (มีประวิสรรชนีย์ที่ –ระ) ด้วยเหตุผลว่า สรีระ เป็นคำบาลี สำราญ เป็นคำไทย จึงไม่เข้าเกณฑ์คำสมาสสนธิที่ห้ามประวิสรรชนีย์กลางคำ การประวิสรรชนีย์ช่วยให้อ่านคำนี้ได้ง่าย
อนึ่ง คำว่า “สรีระสำราญ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
๒. “สรีระสำราญ” โดยปกติพูดควบกับคำว่า “ห้อง” เป็น “ห้องสรีระสำราญ” หมายถึงห้องสุขา หรือห้องส้วม หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ห้องน้ำ”
๓. พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ เล่าว่า ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเมื่อ พ.ศ.2498 ได้เห็นห้องน้ำที่อาคารราชนาวิกสภาติดป้ายชื่อ “ห้องสรีระสำราญ” แสดงว่าคำนี้นิยมใช้กันมานานก่อนหน้านั้นแล้ว
๔. คำว่า “สรีระสำราญ” ถ้าเขียนอิงสันสกฤตก็เป็น “ศรีรสำราญ” รูปคำใกล้กับ “ศรีสำราญ” บางทีคำว่า “ศรีสำราญ” ซึ่งเป็นชื่อประตูแห่งหนึ่งในบรรดาประตูรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังอาจเพี้ยนผิดมาจาก “สรีระสำราญ” ก็ได้กระมัง (นัยว่าสถานที่บริเวณประตูนี้เป็นห้องสุขาสำหรับชาววังในสมัยนั้น)
: สรีระสำราญ > สรีรสำราญ > ศรีรสำราญ > ศรีสำราญ
: ถ้าบำรุงใจให้มากเท่ากับบำรุงกาย
: โลกที่วุ่นวายก็จะสุขสำราญ
————
(หยิบคำมาจากคำสนทนากับคุณครู พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ นักเขียนประจำนิตยสาร นาวิกศาสตร์ ของกองทัพเรือ)
6-11-58