อายุขัย (บาลีวันละคำ 2,166)
อายุขัย
อ่านว่า อา-ยุ-ไข
ประกอบด้วยคำว่า อายุ + ขัย
(๑) “อายุ”
รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ณ ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : ณ + อุ : ณ > อย + อุ = อยุ)
: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น
“อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”
(๑) “ขัย”
บาลีเป็น “ขย” (ขะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ขี (ธาตุ = เสื่อม, สิ้น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ ขี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ขี > เข > ขย)
: ขี + ณ = ขีณ > ขี > เข > ขย (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สิ้นไป” หมายถึง ความสูญเสียหรือหมดสิ้นไป, ความเสื่อมหรือทรุดโทรมลง, ความหมดไป; การกินกร่อน, ความเสื่อมลง, ความสูญไป (waste, destruction, consumption; decay, ruin, loss)
บาลี “ขย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ขัย” (ไข)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ขัย : (คำนาม) ความสิ้นไป, เขตอายุของคนที่นิยมกันว่าสูงสุด เรียกว่า อายุขัย. (ป. ขย; ส. กฺษย).”
อายุ + ขย ในภาษาบาลีซ้อน กฺ ระหว่างคำ (อายุ + กฺ + ขย)
: อายุ + กฺ + ขย = อายุกฺขย (อา-ยุก-ขะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “การสิ้นไปแห่งอายุ” หมายถึง (1) ความเสื่อมสิ้นไปของอายุ (decay of life) (2) ความหมดไปของชีวิต, การหมดอายุ (exhaustion of life or lifetime)
บาลี “อายุกฺขย” ภาษาไทยใช้เป็น “อายุขัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“อายุขัย : (คำนาม) การสิ้นอายุ, ความตาย; อัตรากําหนดอายุจนสิ้นอายุ. (ป.; ส. อายุกฺษย).”
ขยายความ :
อายุขัยของมนุษย์ กล่าวตามคัมภีร์บาลีท่านว่าสูงสุดคือ 80,000 (แปดหมื่น) ปี ต่ำสุดคือ 10 (สิบ) ปี
คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีอันเป็นอรรถกถาอธิบายความคัมภีร์พุทธวงศ์ในพระไตรปิฎกแสดงตัวเลข “อายุขัย” ของพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นแล้วในอดีตกาลว่า พระพุทธเจ้าที่พระชนมายุสูงสุดคือ 100,000 (หนึ่งแสน) ปี และที่พระชนมายุน้อยที่สุดคือ 100 (หนึ่งร้อย) ปี คือพระโคดมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้
ที่คัมภีร์บอกว่าพระโคดมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้พระชนมายุ 100 ปีนั้นเป็นการกล่าวตาม “อายุขัย” หมายความว่าในสมัยที่ศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าเกิดขึ้นและดำรงอยู่นั้นมนุษย์มีอายุขัย 100 ปี ในสมัยพุทธกาลคนอายุ 100 ปีไม่มีใครตื่นเต้น เพราะเป็นปกติของคนในสมัยนั้นที่จะมีอายุถึงเพียงนั้น
ผู้รู้ท่านแสดงเกณฑ์คิดอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบันไว้ว่า
๑. เอาปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานตั้งเป็นเพดานไว้ว่ามนุษย์มีอายุขัย 100 ปี
๒. พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงไปได้ 100 ปี ให้ลดเพดานอายุขัยลง 1 ปี
๓. บัดนี้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงไปได้ 2,560 ปี อายุขัยมนุษย์ลดลงไป 25 ปี+
๔. ดังนั้น อายุขัยของมนุษย์ในขณะนี้ก็คือ 75 ปี-
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนอายุยืน โลกตื่นเต้นเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว
: แต่คนทำความดี โลกคารวะตลอดกาล
#บาลีวันละคำ (2,166)
18-5-61