ปุราณทุติยิกา (บาลีวันละคำ 2,575)
ปุราณทุติยิกา
“เมียเก่า”
อ่านว่าปุ-รา-นะ-ทุ-ติ-ยิ-กา
แยกศัพท์เป็น ปุราณ + ทุติยิกา
(๑) “ปุราณ”
อ่านว่า ปุ-รา-นะ รากศัพท์มาจาก ปุร (เก่าก่อน, กาลก่อน) + น (นะ, แทนศัพท์ว่า “ภว” = มี), ทีฆะ อะ ที่ (ปุ)-ร เป็น อา (ปุร > ปุรา), แปลง น เป็น ณ
: ปุร + น = ปุรน > ปุราน > ปุราณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอยู่แต่เก่าก่อน” “สิ่งที่มีอยู่ในกาลก่อน”
“ปุราณ” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) โบราณ, อดีต (ancient, past)
(2) แก่ (พูดถึงอายุ), ทรุดโทรม, ที่ใช้แล้ว (old [of age], worn out, used)
(3) แต่ก่อน, อดีต, เก่า (former, late, old)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปุราณ” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“ปุราณ : (คำวิเศษณ์) บุราณ, โบราณ. (ป., ส.).”
(๒) “ทุติยิกา”
อ่านว่า ทุ-ติ-ยิ-กา รากศัพท์มาจาก ทุติย + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(ก) “ทุติย” รากศัพท์มาจาก ทฺวิ (สอง) + ติย ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น ทุ
: ทฺวิ + ติย = ทฺวิติย > ทุติย แปลตามศัพท์ว่า “ลำดับที่สอง” เป็นคำเดียวกับที่อยู่ในชุด … ทุติยมฺปิ ตติยมฺปิ ที่เราคุ้นกันดี
“ทุติย” (มักใช้เป็นคุณศัพท์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ที่สอง, เพื่อน (the second, the following)
(2) ผู้ตามมาหรือร่วมด้วย, ผู้ร่วมงาน; ไปด้วย หรือมี…ไปด้วย; ผู้ไปด้วย, เพื่อน, หุ้นส่วน (one who follows or is associated with, an associate of; accompanying or accompanied by ( — ); a companion, friend, partner)
(ข) ทุติย + อิก = ทุติยิก + อา = ทุติยิกา แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้เป็นที่เต็มแห่งสองคน” คือเป็นคนที่สองในบ้านรองจากสามี หมายถึง ภรรยาหรือเพื่อนหญิง (a wife or female companion)
ปุราณ + ทุติยิกา = ปุราณทุติยิกา แปลว่า “ภรรยาเก่า” หมายถึง หญิงที่เคยเป็นภรรยา (the former wife)
ขยายความ :
คำว่า “ปุราณทุติยิกา” เป็นคำวัดแท้ ยังไม่เคยได้ยินใครเขียนหรือพูดกันในภาษาไทย
“ปุราณทุติยิกา” โดยความหมายก็คือ หญิงที่เป็นภรรยาของชายคนใดคนหนึ่ง ต่อมาเลิกร้างกัน ภาษาบาลีมีคำเรียกหญิงที่อยู่ในสถานะเช่นนี้ว่า “ปุราณทุติยิกา” แปลความตรงตัวว่า “เมียเก่า”
ในกรณีที่สามีไปบวชเป็นภิกษุ ในคัมภีร์ก็ใช้คำเรียกภรรยาว่า “ปุราณทุติยิกา” เช่นกัน กรณีเช่นนี้น่าลงความเห็นได้ว่า ตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปถือว่ามีผลเท่ากับเลิกร้างหรือหย่าร้างกันแล้ว
ประเด็นนี้มีปัญหาน่าคิด กล่าวคือ ในพระวินัยบัญญัติว่า ในกรณีที่ภิกษุมรณภาพลง บริขารส่วนตัวทั้งหมดให้ตกเป็นของสงฆ์
สมมุติว่าภิกษุรูปนั้นมีภรรยาจดทะเบียนสมรสกันมาก่อนและยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ถ้าภรรยาซึ่งตามภาษาพระวินัยเรียกว่า “ปุราณทุติยิกา” ยื่นคำร้องต่อศาลไทยขอเป็นผู้รับมรดก ศาลจะตัดสินให้บริขารของภิกษุนั้นตกเป็นของ “ปุราณทุติยิกา” ได้หรือไม่
น่าคิดว่า วินัยสงฆ์กับศาลใครจะใหญ่กว่ากัน จะอ้างหลัก “ราชูนํ อนุวตฺติตุํ” (ทรงอนุญาตให้ภิกษุปฏิบัติโดยอนุโลมตามกฎหมายบ้านเมือง) ได้หรือไม่
ขอฝากนักวินัยและนักกฎหมายพิจารณาด้วยเทอญ
…………..
แถม :
ในภาษาไทย ต้องมีเมียใหม่ จึงจะเรียกได้ว่า “เมียเก่า”
แต่ในภาษาของพระพุทธเจ้า ท่านเรียก “เมียเก่า” แม้จะมีเมียเดียว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีปัญหาเรื่องเมียเก่าเมียใหม่
: ถ้าตัดสินใจมีเมียเดียว
#บาลีวันละคำ (2,575)
1-7-62