สั่งสนทนา (บาลีวันละคำ 1,266)
สั่งสนทนา
อ่านว่า สั่ง-สน-ทะ-นา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังสนทนา, สั่งสนทนา : (คำกริยา) พูดกันฐานกันเอง, พูดจาหารือกัน, มักใช้ สั่งสนทนา. (ป. สํสนฺทนา ว่า การเทียบเคียงกัน).”
พจน.54 บอกว่า สังสนทนา หรือ สั่งสนทนา ตรงกับบาลีว่า “สํสนฺทนา”
“สํสนฺทนา” บาลีอ่านว่า สัง-สัน-ทะ-นา รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + สนฺทฺ (ธาตุ = ไหลไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สํ + สนฺทฺ = สํสนฺท + ยุ > อน = สํสนฺทน + อา = สํสนฺทนา แปลตามศัพท์ว่า “การไหลไปรวมกัน” มีความหมาย 2 อย่างคือ –
(1) รวมกัน, ไปด้วยกัน, เข้ากันได้, ผสมกันได้
(2) เทียบเคียงหรือเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความแตกต่าง หรือเพื่อเลือกเอาสิ่งที่ดีกว่า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สํสนฺทนา” ว่า –
(1) “flowing together” (แปลตามศัพท์. “การไหลรวมกัน”), coming together (การมาด้วยกัน)
(2) import, application, reference, conclusion (ใจความ, การเอาใจใส่, การอ้างอิง, การลงความเห็น)
ไวยากรณ์บาลีบอกว่า “สํสนฺทนา” –
(1) ถ้าเป็นคำกริยา (เอกพจน์ ปฐมบุรุษ) จะเป็น “สํสนฺทติ” (สัง-สัน-ทะ-ติ) มีความหมายว่า ไปด้วยกัน, สมาคมกัน (to run together, to associate)
(2) ถ้าเป็นรูปเหตุกัตตุวาจก (ไวยากรณ์ไทยเรียก การิตวาจก) สํสนฺทติ เปลี่ยนเป็น “สํสนฺเทติ” (สัง-สัน-เท-ติ) มีความหมายว่า เอาไปรวมกัน; ทำให้เข้ากัน, รวมกัน (to put together; unite, combine)
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น สํสนฺทนา, สํสนฺทติ หรือ สํสนฺเทติ ความหมายเดิมในบาลีไม่ได้หมายถึงพูดคุยกัน หรือสนทนากัน อย่างที่ใช้ในภาษาไทยแต่ประการใด
คำที่หมายถึง พูดคุยกัน สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อย่างที่ในภาษาไทยใช้ว่า สนทนา สั่งสนทนา หรือเสวนานั้น บาลีใช้คำว่า “สากจฺฉา” (สา-กัด-ฉา)
ดูคำที่ฝรั่งแปลไว้อาจช่วยให้เทียบเคียงความหมายได้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ –
สากจฺฉา : conversation, talking over, discussing (การสนทนา, การพูดคุย, การถกเถียง) นี่ก็ตรงกับความหมายของ “สั่งสันทนา” ในภาษาไทยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจว่าภาษาบาลีที่เอามาใช้ในภาษาไทยนั้น ความหมายย่อมผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้เป็นธรรมดา รวมทั้งลักษณะทางไวยากรณ์ของคำก็อาจเปลี่ยนไปเป็นคนละอย่าง อย่างคำว่า “สั่งสันทนา” นี้เอง ในบาลี “สํสนฺทนา” เป็นคำนาม แต่ในภาษาไทย “สั่งสันทนา” เป็นคำกริยา
“สั่งสันทนา” เป็นคำเก่า คนรุ่นใหม่แทบจะไม่ได้พูดหรือเขียนคำนี้กันอีกแล้ว
: สนทนาอย่างพาล หาเรื่องผิด
: สนทนาอย่างบัณฑิต หาเหตุผล
16-11-58