พุทธมนต์ (บาลีวันละคำ 2414)
พุทธมนต์
ไม่ใช่ “พุทธมนตร์”
อ่านว่า พุด-ทะ-มน
ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + มนต์
(๑) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –
One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)
(๒) “มนต์”
บาลีเป็น “มนฺต” (มัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย
: มนฺ + ต = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้”
(2) มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา) + อ ปัจจัย
: มนฺต + อ = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษา”
“มนฺต” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีมีความหมายดังต่อไปนี้ –
1 ความหมายเดิม คือ คำพูดหรือคำตัดสินของเทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วกลายมาเป็นประมวลคำสอนที่เร้นลับของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระเวท (a divine saying or decision, hence a secret plan)
2 คัมภีร์ศาสนา, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)
3 ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม, เสน่ห์, คาถา (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)
4 คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)
5 เล่ห์เหลี่ยม, ชั้นเชิง (a charm, an effective charm, trick)
6 สูตรวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ (เช่น H2O = น้ำ หรือแม้แต่สูตรคูณ ก็อยู่ในความหมายนี้) (law)
7 ปัญญา, ความรู้ (wisdom, knowledge, insight, discernment)
“มนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “มนต์” ตามบาลี และ “มนตร์” ตามสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“มนฺตฺร : (คำนาม) ‘มนตร์,’ ภาคพระเวท; คูฒกาพย์; สูตร์อันเปนบุณยะแด่เทพดาองค์ใดองค์หนึ่ง, ดุจ ‘โอม วิษณเว นมหฺ’; การหรือคำหารือลับ; a division of the Vedas; a mystical versa; a formula sacred to any individual deity, as, ‘Om Vishṇave namah’; sacred consultation.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนต์, มนตร์ : (คำนาม) คําศักดิ์สิทธิ์, คําสําหรับสวดเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น สวดมนต์, คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์. (ป. มนฺต; ส. มนฺตฺร).”
พุทฺธ + มนฺต = พุทฺธมนฺต > พุทธมนต์ แปลว่า “มนต์ของพระพุทธเจ้า”
ขยายความ :
คำว่า “พุทธมนต์” ในความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนา หมายถึงหลักคำสอนทั้งมวลของพระพุทธเจ้าอันนำไปสู่ปัญญารู้แจ้งจริงจนหลุดพ้นเป็นอิสระจากสรรพาสวกิเลส
คำว่า “พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์” ที่เราเอามาเรียกในบุญพิธีนั้น มูลเหตุเดิมก็คือพระสงฆ์สาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้าให้พุทธบริษัทได้สดับนั่นเอง
ข้อสังเกต :
คำว่า “พุทธมนต์” ใช้ มน-ตะ = -มนต์
คำว่า “เวทมนตร์” ใช้ มน-ตะ-ระ = -มนตร์
อ้างอิง: อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์พระไตรปิฎก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2562 ท่านยังอ้างด้วยว่า เอกสารของสำนักพระราชวังเมื่อกล่าวถึงคำ 2 คำนี้ก็จะใช้ต่างกันเช่นนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หลงกลคน
: ร้ายกว่าหลงกลมนตร์คาถา
#บาลีวันละคำ (2,414)
21-1-62