นาวี จิรํ ฐาตุ ชลูมิวตฺตนา (บาลีวันละคำ 1,270)
นาวี จิรํ ฐาตุ ชลูมิวตฺตนา
อ่านว่า นา-วี / จิ-รัง / ถา-ตุ / ชะ-ลู-มิ-วัด-ตะ-นา
เมื่อยังรับราชการอยู่ในกองทัพเรือผู้เขียนบาลีวันละคำมักส่งบทกลอนไปลงในนิตยสาร “นาวิกศาสตร์” ของกองทัพเรือเนืองๆ เฉพาะฉบับเดือนพฤศจิกายนจะเป็นคำประพันธ์บรรยายถึงทหารเรือกับกองทัพเรือ เพราะวันที่ 20 พฤศจิกายนเป็นวันกองทัพเรือ
คำบาลีข้างต้นนี้ผู้เขียนแต่งขึ้นเป็นอินทรวงศฉันท์ 1 บาท ใช้เป็นเสมือนคำเกริ่นของคำกลอน
คำบาลีนั้นมีคำแปลและอธิบายดังนี้ :
(๑) “นาวี”
รากศัพท์มาจาก นาวา (เรือ) + ณิ (ลบ ณ > อิ > อี) = นาวี แปลว่า “เกี่ยวกับเรือ” “ผู้ประกอบหน้าที่ในเรือ” หมายถึง ทหารเรือ, นายเรือ, นายท้ายเรือ, ชาวเรือ, คนประจำเรือ (a navy, a sailor, mariner, a seaman, a ferryman)
โปรดสังเกตว่า นาวี กับ navy รูปศัพท์ตรงกัน
(๒) “จิรํ” (จิ-รัง)
รูปคำเดิมเป็น “จิร” (จิ-ระ) แปลว่า เวลานาน (long time) แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) ได้รูปเป็น จิรํ แปลว่า สิ้นกาลนาน, ตลอดเวลายาวนาน
(๓) “ฐาตุ” (ถา-ตุ)
เป็นคำกริยาอาขยาต (อ่านว่า -อา-ขะ-หฺยาด) เอกพจน์ แปลว่า จงตั้งอยู่, จงดำรงอยู่
จิรํ ฐาตุ แปลว่า จงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
อนึ่ง โปรดทราบว่า หลักนิยมของอักขรวิธีบาลีเมื่อเขียนเป็นอักษรไทย ฐ ฐาน กับ ญ หญิง ท่านให้ตัดเชิงออก ในที่นี้ไม่ได้ตัดเนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิค
(๔) “ชลูมิวตฺตนา” (ชะ-ลู-มิ-วัด-ตะ-นา)
ประกอบด้วย ชล (ชะ-ละ, น้ำ) + อูมิ (อู-มิ, คลื่น) + วตฺตน (วัด-ตะ-นะ, ความเป็นไป, การหมุนไป)
: ชล + อูมิ = ชลูมิ แปลว่า น้ำและคลื่น (water and wave)
: ชลูมิ + วตฺตน = ชลูมิวตฺตน แปลว่า การหมุนไปแห่งน้ำและคลื่น (continuance of water and wave)
ชลูมิวตฺตน แจกด้วยวิภัตตินามที่ห้า (ปัญจมีวิภัตติ) ได้รูปเป็น ชลูมิวตฺตนา แปลว่า “แต่การหมุนไปแห่งน้ำและคลื่น”
นาวี จิรํ ฐาตุ ชลูมิวตฺตนา
แปลตามศัพท์ว่า “กองทัพเรือจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน เพียงไรแต่การหมุนไปแห่งน้ำและคลื่น”
= น้ำและคลื่นยังหมุนไปอยู่เพียงไร กองทัพเรือก็จงดำรงตลอดกาลนานเพียงนั้น
> นาวีจงอยู่ยืน ตราบเกลียวคลื่นยังพลิ้วพราย
………
: นาวี จิรํ ฐาตุ ชลูมิวตฺตนา
นาวีจงอยู่ยืน ตราบเกลียวคลื่นยังพลิ้วพราย
: มคฺโค ผลํ โหนฺตุ สุสีลทิฏฺฐิยา.
ปฏิเวธอย่าว่างวาย ตราบปฏิบัติธรรมยังดำเนิน.
————
(เนื่องในโอกาส 20 พฤศจิกายน – วันกองทัพเรือ)
20-11-58