บาลีวันละคำ

สหธรรม (บาลีวันละคำ 1,271)

สหธรรม

อ่านว่า สะ-หะ-ทำ

ประกอบด้วย สห + ธรรม

(๑) “สห” (สะ-หะ)

เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)

สห” ในบาลีมีความหมายเพียงแค่ พร้อมกัน ร่วมกัน เช่น ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำพร้อมกัน แต่ไม่ได้หมายถึง “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” (United) เสมอไป

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม ในบาลีเป็น ธรฺม ในสันสกฤต เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม

พจน.54 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

สห + ธมฺม = สหธมฺม > สหธรรม แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่มีร่วมกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สหธรรม : (คำนาม) ธรรมอันเดียวกัน, กฎหรือความเชื่อถืออย่างเดียวกัน.”

ในทางหลักวิชาเกี่ยวกับวัฒนธรรม “สหธรรม” เป็นหนึ่งในประเภทของวัฒนธรรม ซึ่งผู้รู้แบ่งไว้ 4 ประเภท คือ วัตถุธรรม เนติธรรม คติธรรม และ สหธรรม (พึงศึกษาความหมายของแต่ละคำต่อไป)

คำว่า “สหธมฺม” ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งแสดงคุณสมบัติข้อหนึ่งของพุทธบริษัทที่มีคุณภาพว่า –

“อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสนฺติ.”

แปลว่า “แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรม”

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕

หมายความว่า เมื่อมีการระรานกันเกี่ยวกับศาสนา ชาวพุทธที่ดีจะต้องสามารถชี้แจงให้ผู้ระรานยอมสยบได้และยังคงอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ

: คิดดีต่อกันอย่างวุ่นวาย

: ดีกว่าคิดร้ายอย่างสันติ

21-11-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย