ฉินพรรษ (บาลีวันละคำ 4,453)
ฉินพรรษ
ไม่มีใช้ในภาษาไทย
แต่เรียนรู้ว่าเป็นภาษาพระวินัยก็ได้ประโยชน์
อ่านว่า ฉิน-นะ-พัด
แยกศัพท์เป็น ฉิน + พรรษ
(๑) “ฉิน”
บาลีเป็น “ฉินฺน” อ่านว่า ฉิน-นะ รากศัพท์มาจาก ฉิทฺ (ธาตุ = ตัด, แบ่ง, ขาด) + ต ปัจจัย, แปลง ทฺต เป็น นฺน
: ฉิทฺ + ต = ฉิทฺต > ฉินฺน แปลตามศัพท์ว่า “ขาดแล้ว” หมายถึง ถูกตัด, ถูกทำลาย (cut off, destroyed)
(๒) “พรรษ”
บาลีเป็น “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + อ (อะ) ปัจจัย
: วสฺสฺ + อ = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน”
“วสฺส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)
(2) ปี (a year)
(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)
ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)
บาลี “วสฺส” สันสกฤตเป็น “วรฺษ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรษา” อ่านว่า พัน-สา
“วสฺส -วรฺษ” ไทยเราน่าจะใช้เป็น “พรรษ” (พัด) แต่ที่เป็น “พรรษา” อาจเป็นเพราะ –
1 ในบาลีมักใช้ในรูปพหูพจน์ คือเป็น “วสฺสา” (สัน.วรฺษา) เราจึงใช้ตามที่คุ้นเป็น “พรรษา”
2 คำที่หมายถึงฤดูฝนมีอีกคำหนึ่ง คือ “วสฺสาน” (วัด-สา-นะ) คำนี้อาจกร่อนเป็น “วสฺสา-” เราก็เลยใช้เป็น “พรรษา”
ความจริง ที่ใช้เป็น “พรรษ” ก็มี แต่มักเป็นภาษาเขียน ไม่ใช่ภาษาพูด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พรรษา : ช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษา จําพรรษา; ปี เช่น บวช ๓ พรรษา, (ราชาศัพท์) มีพระชนมายุ ๒๕ พรรษา. (ส. วรฺษ; ป. วสฺส, วสฺสาน).”
ฉินฺน + วสฺส = ฉินฺนวสฺส (ฉิน-นะ-วัด-สะ) แปลว่า “ผู้มีกาลฝนขาดแล้ว” หมายถึง ภิกษุที่อยู่จำพรรษา กระทำเหตุที่ทำให้การอยู่จำพรรษานั้นผิดไปจากกฎเกณฑ์ที่พระวินัยกำหนดไว้ เช่น ในระหว่างเข้าพรรษาไปค้างแรมนอกเขตที่กำหนดจำพรรษาโดยไม่เข้าเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้น หรือออกไปนอกเขตที่กำหนดจำพรรษาก่อนจะรุ่งอรุณ เป็นต้น เรียกสั้น ๆ ว่า “พรรษาขาด”
“ฉินฺนวสฺส” แปลงรูปเป็นไทยเป็น “ฉินพรรษ” (ฉิน-นะ-พัด)
เสียงดี รูปสวย แต่อย่าฉวยเอาไปตั้งเป็นชื่อคนเข้า เพราะความหมายไม่สู้ดี
ขยายความ :
ภิกษุที่เป็น “ฉินพรรษ” (พรรษาขาด) ย่อมเสียสิทธิ์ที่จะได้รับอานิสงส์จากการจำพรรษาตามพระวินัย เช่น ไม่มีสิทธิ์รับกฐินเป็นต้น แต่จำนวนพรรษาที่บวชมายังคงนับติดต่อกันไปได้
ภิกษุที่พรรษาขาดไม่มีสิทธิ์รับกฐิน เรื่องนี้ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ดังหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถาพระวินัยแสดงไว้ว่า –
…………..
กฐินตฺถารํ เก ลภนฺติ เก น ลภนฺตีติ ฯ
ถาม: ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้?
คณนวเสน ตาว
ตอบ: ว่าด้วยอำนาจแห่งจำนวนก่อน
ปจฺฉิมโกฏิยา ปญฺจ ชนา ลภนฺติ
ภิกษุห้ารูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน
อุทฺธํ สตสหสฺสมฺปิ ฯ
อย่างสูงแม้แสนก็ได้
ปญฺจนฺนํ เหฏฺฐา น ลภนฺติ ฯ
หย่อนห้ารูป ไม่ได้
วุตฺถวสฺสวเสน
ว่าด้วยอำนาจภิกษุผู้จำพรรษา
ปุริมิกาย วสฺสํ อุปคนฺตฺวา ปฐมปวารณาย ปวาริตา ลภนฺติ
ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อมได้
ฉินฺนวสฺสา วา ปจฺฉิมิกาย อุปคตา วา น ลภนฺติ
ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือเข้าพรรษาหลัง ย่อมไม่ได้
อญฺญสฺมึ วิหาเร วุตฺถวสฺสาปิ น ลภนฺตีติ มหาปจฺจริยํ วุตฺตํ ฯ
แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. คัมภีร์มหาปัจจรีว่าไว้ดังนี้
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 210
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขาดพรรษา ไม่มีสิทธิ์รับกฐิน
: ขาดศีล ไม่มีสิทธิ์เป็นสงฆ์
#บาลีวันละคำ (4,453)
21-8-67
…………………………….
…………………………….