ชัยมงคลคาถา (บาลีวันละคำ 1,282)
ชัยมงคลคาถา
อ่านว่า ไช-ยะ-มง-คน-คา-ถา
ประกอบด้วย ชัย + มงคล + คาถา
(๑) “ชัย”
บาลีเป็น “ชย” (ชะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: ชิ > เช > ชย + อ = ชย แปลตามศัพท์ว่า “ความชนะ” หมายถึง การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (vanquishing, overcoming, victory)
(๒) “มงคล”
บาลีเป็น “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มคิ (ธาตุ = ถึง, ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ ม-(คิ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระที่สุดธาตุ (มคิ > มค)
: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์”
(2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + อ ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อุ ที่ ลุ ที่อยู่หน้า อ ปัจจัย : ลุ > ล)
: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + อ = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุที่ตัดความชั่ว”
ความหมายที่เข้าใจกันของ “มงฺคล” คือ :
(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)
(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)
“มงฺคล” ตามหลักพระพุทธศาสนาหมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
“มงฺคล” ในภาษาไทยใช้ว่า “มงคล” (มง-คน)
ชย + มงฺคล = ชยมงคล > ชัยมงคล มีความหมายว่า ชัยชนะที่เป็นมงคล คือชัยชนะที่ดี ที่ประเสริฐ หมายถึงชนะแล้วไม่มีวันแพ้ คือชนะกิเลส
(๓) “คาถา”
รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ถ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: คา + ถ = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คาถา” ว่า a verse, stanza, line of poetry (บทกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง)
ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์
ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ อย่างที่เรียกว่า “คาถาอาคม” เช่นพูดว่า “เสกคาถา”
ชัยมงคล + คาถา = ชัยมงคลคาถา มีความหมายว่า บทร้อยกรองที่แสดงถึงชัยชนะอันเป็นมงคล
“ชัยมงคลคาถา” เป็นชื่อคาถาพิเศษบทหนึ่ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ชยปริตร”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายเรื่อง “ชยปริตร” ไว้ตอนหนึ่งว่า –
“ชยปริตร: “ปริตรแห่งชัยชนะ”, ปริตรบทหนึ่ง ประกอบด้วยคาถาที่แต่งขึ้นใหม่ในยุคหลัง โดยนำเอาพุทธพจน์ (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ฯเปฯ สห สพฺเพหิ ญาติภิ, องฺ.ติก. ๒๐/๕๙๕/๓๗๙) มาตั้งเป็นแกน เริ่มต้นว่า “มหาการุณิโก นาโถ” จัดเป็นปริตรบทที่ ๑๒ (บทสุดท้าย) ใน “สิบสองตำนาน”
ชยปริตรนี้ นิยมสวดกันมาก นอกจากใช้สวดรวมในชุดสิบสองตำนาน และพ่วงท้ายเจ็ดตำนานแล้ว ยังตัดเอาบางส่วนไปใช้ต่างหากจากชุด สำหรับสวดในพิธีหรือในโอกาสอื่นด้วย เช่น นำไปสวดต่อจากชยมังคลัฏฐกคาถา (พุทธชัยมงคลคาถา หรือ พาหุง) ในการถวายพรพระ และจัดเป็นบทเฉพาะสำหรับสวดในกำหนดพิธีพิเศษหรือมงคลฤกษ์ต่างๆ เป็นต้นว่า โกนผมไฟ ตัดจุก วางศิลาฤกษ์ เปิดงาน เปิดร้าน รับพระราชทานปริญญาบัตร เททองหล่อพระ เรียกว่า เจริญชัยมงคลคาถา”
……
อภิปราย :
โปรดสังเกตข้อความในภาพประกอบ บรรทัดที่เขียนว่า “ถวายพระพรชัยมงคลคาถา”
“ถวายพระพร” มีใช้ เป็นคำเริ่มและคำรับที่พระสงฆ์พูดกับเจ้านาย (มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “เจริญพร”) และหมายถึงคำแสดงความปรารถนาให้พระมหากษัตริย์และเจ้านายทรงพระเจริญ
“ถวายพระพรชัยมงคล” มีใช้ คือ ถวายพระพรนั่นเอง แต่เสริมคำต่อไปอีก
แต่ “ถวายพระพรชัยมงคลคาถา” ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่เคยได้ยิน
ฤๅจะเป็นการเอาคำ “ถวายพระพรชัยมงคล” กับ “ชัยมงคลคาถา” มาสมาสสนธิกันเข้าด้วยเหตุผลอะไรสักอย่าง แล้วเลยกลายพันธุ์เป็น “ถวายพระพรชัยมงคลคาถา” ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะให้หมายถึงอะไร
……
: ชนะใจตน คือยอดชัยมงคลยิ่งกว่าชนะใครๆ
————
(ภาพจากหน้าเฟซของท่านอาจารย์ Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
2-12-58