บาลีวันละคำ

องคชาต (บาลีวันละคำ 3,055)

องคชาต

ฤๅจะมีอำนาจแค่ทำให้เกิด

อ่านว่า อง-คะ-ชาด

แยกศัพท์เป็น องค + ชาต

(๑) “องค

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” (มีจุดใต้ งฺ) อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ

องฺค” ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)

บาลี “องฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “องค-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า อง-คะ- และ “องค์” อ่านว่า อง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า “องค-” “องค์” เป็นคำนาม มาจากบาลีสันสกฤต บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.

(2) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.

(3) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.

(4) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.

(๒) “ชาต

บาลีอ่านว่า ชา-ตะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา

: ชนฺ + = ชนต > ชาต แปลว่า “เกิดแล้ว” = การเกิดได้มีขึ้นเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่กำลังเกิด หรือจักเกิด ในภาษาบาลีมักใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ หมายถึง เกิด, งอก, บังเกิดขึ้น, ผลิตขึ้น (born, grown, arisen, produced)

คำที่คล้ายกับ “ชาต” คือ “ชาติ” (ชา-ติ) มาจากธาตุตัวเดียวกัน แต่ปัจจัยคนละตัว คือ “ชาติ” รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา

: ชนฺ + ติ = ชนติ > ชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม ใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

1 การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

2 ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

3 จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

4 ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. Artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

โปรดสังเกต :

ชาติ = การเกิด (birth)

ชาต = เกิดแล้ว (born)

และคำนี้ “องฺคชาต” (-ชา-ตะ)

ไม่ใช่ “องฺคชาติ” (-ชา-ติ)

องฺค + ชาต = องฺคชาต (อัง-คะ-ชา-ตะ) แปลตามตำราว่า “อวัยวะที่เกิดในร่างกาย” แต่ถ้าแปลตามศัพท์ที่น่าจะแปลได้ ผู้เขียนบาลีวันละคำปรารถนาจะแปลว่า “อวัยวะที่ยังชีวิตให้เกิด

บาลี “องฺคชาต” สันสกฤตก็เป็น “องฺคชาต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

องฺคชาต : (คำนาม) ‘องคชาต,’ อันเกิดจากร่างกาย; produced from the body.”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “องฺคชาต” ตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เกิดในร่างกาย” หมายถึง องคชาต, อวัยวะเพศชาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

องคชาต : (คำนาม) อวัยวะสืบพันธุ์ของชาย. (ป., ส. องฺคชาต ว่า อวัยวะสืบพันธุ์ของชายหญิง).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “องฺคชาต” ว่า  “the distinguishing member”, i. e. sign of male or female; membrum virile and muliebre (“องค์ที่แสดงความแตกต่าง” คือ เครื่องหมายว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง; อวัยวะเพศชายและเพศหญิง)

เป็นอันว่า “องฺคชาต” (อัง-คะ-ชา-ตะ) หรือ “องคชาต” (อง-คะ-ชาด) ที่เราเข้าใจกันว่า “อวัยวะสืบพันธุ์ของชาย” นั้น ความหมายในวงกว้างหมายถึง อวัยวะเพศทั้งของชายและของหญิง

อภิปราย :

ในคำที่พระสงฆ์พิจารณาเมื่อจะใช้สอยปัจจัยสี่ ตอนพิจารณาจีวร (โดยวงกว้างคือเครื่องนุ่งห่ม) มีความว่า –

…………..

ปะฏิสังขา โยนิโส จีวะรัง ปะฏิเสวามิ,

เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วนุ่งห่มจีวร

ยาวะเทวะ สีตัสสะ ปะฏิฆาตายะ,

เพียงเพื่อบำบัดความหนาว

อุณ๎หัสสะ ปะฏิฆาตายะ,

เพื่อบำบัดความร้อน

ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง ปะฏิฆาตายะ,

เพื่อป้องกันสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด, และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย

ยาวะเทวะ หิริโกปินะปะฏิจฉาทะนัตถัง,

เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันยังให้หิริกำเริบ

…………..

อวัยวะอันยังให้หิริกำเริบ” ท่านหมายถึงอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่-ถ้าไม่ปกปิดก็จะทำให้หิริคือความละอายกำเริบ พูดตรงๆ ว่า เพราะน่าอายจึงต้องปกปิด และเมื่อปกปิดแล้วก็ไม่ต้องอาย

พูดตรงๆ ก็คือ อวัยวะเพศเป็นสิ่งที่ผู้เจริญแล้วไม่เอามาเปิดเผย ไม่ต้องกล่าวถึงขั้นเอาของจริงมาเปิดเผย แม้แต่พูดถึงก็ถือกันว่าเป็นเรื่องที่ควรละอาย

แต่ปัจจุบันค่านิยมนี้คงจะเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

สัตว์มันทำให้ลูกเกิด

แล้วเลี้ยงให้โต บางชนิดก็ไม่เลี้ยง

แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้อบรมสั่งสอนผิดถูกชั่วดีอะไรให้ลูกมัน

ถ้าลูกคนบอกว่า ทำให้ฉันเกิด เลี้ยงให้ฉันโตเท่านั้นพอ –

: ไม่ต้องมาสอนอะไรฉัน

: แล้วมันจะต่างอะไรกันกับสัตว์?

#บาลีวันละคำ (3,055)

23-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย