สยุมพร (บาลีวันละคำ 1,289)
สยุมพร
อ่านว่า สะ-หฺยุม-พอน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สยุมพร ๑ : (คำนาม) สยมพร, สยัมพร หรือ สวยมพร ก็ใช้.”
ตามไปดูที่ “สยมพร” (สะ-หฺยม-พอน) พจน.54 บอกไว้ว่า –
“สยมพร : (คำนาม) พิธีเลือกคู่ของกษัตริย์สมัยโบราณ; การเลือกผัวของนางกษัตริย์สมัยโบราณ, สยัมพร สยุมพร หรือ สวยมพร ก็ใช้. (ป. สยํวร; ส. สฺวยํวร).”
ข้อสังเกต :
๑. ที่คำว่า “สยุมพร” พจน.54 ไม่ได้อธิบายความหมาย เพียงแต่บอกว่า สยุมพร คือ “สยมพร” พจน.54 ไปอธิบายความหมายไว้ที่คำว่า “สยมพร” ดังนี้แสดงว่าคำหลักคือ “สยมพร” ไม่ใช่ “สยุมพร”
๒. แต่คนส่วนมากที่พูดคำนี้ มักออกเสียงว่า สะ-หฺยุม-พอน = สยุมพร ไม่ใช่ สยมพร
พจน.54 บอกว่า สยมพร บาลีเป็น “สยํวร” สันสกฤตเป็น “สฺวยํวร”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “สยํวรา” (สะ-ยัง-วะ-รา) และ “สยมฺพรา” (สะ-ยำ-พะ-รา) รากศัพท์มาจาก สยํ + วรฺ (ธาตุ = ต้องการ) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สยํ + วรฺ + อ = สยํวร + อา = สยํวรา แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้ต้องการสามีเอง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สยํวร” ว่า self-choice (การเลือกโดยตนเอง)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺวยมฺวรา” บอกไว้ว่า –
“สฺวยมฺวรา : (คำนาม) กันยาซึ่งเลือกหาคู่ครองของนาง; a maiden who chooses her own husband.”
อภิปราย :
๑. “สยํ” (สะ-ยัง) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต นักเรียนบาลีแปลกันติดปากว่า “สยํ เอง” หมายถึง –โดยตนเอง (self, by oneself)
คำว่า “สยมภู” ที่เราค่อนข้างจะคุ้นกันก็มีรากศัพท์มาจาก “สยํ” คำนี้ (สยํ + ภู [แปลงนิคหิตเป็น มฺ] = สยมฺภู) แปลว่า “พระผู้เป็นเอง” หมายถึงพระอิศวร ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาใช้คำนี้เรียกพระพุทธเจ้า ในความหมายว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยพระองค์เอง
๒. ในบาลี นอกจากได้รูปเป็น “สยํวรา” แล้ว ยังแปลงนิคหิต (คือ อัง ที่ –ยํ) เป็น มฺ และแปลง ว เป็น พ ได้รูปเป็น “สยมฺพรา” อีกรูปหนึ่ง
๓. สยํวรา และ สยมฺพรา เป็นรูปอิตถีลิงค์ สันสกฤตก็เป็น สฺวยมฺวรา เป็นอิตถีลิงค์เช่นกัน คำแปลของ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ระบุชัดว่าเป็นคำที่หมายถึงสตรีโดยเฉพาะ คือหมายถึงสตรีที่เลือกคู่ครองด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้บิดามารดาจัดแจงหาให้
๔. ตามวัฒนธรรมของของชาวชมพูทวีป (อาจจะรวมถึงชาวเอเชียทั้งหมดด้วย) พ่อแม่เป็นผู้จัดแจงหาคู่ครองให้ลูก ดังคำสอนในเรื่องทิศหกที่ว่า บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วย 5 สถาน หนึ่งใน 5 นั้นก็คือ หาคู่ครองที่สมควรให้ (ปฏิรูเปน ทาเรน สญฺโญเชนฺติ) สังคมไทยก็ถือคตินี้อย่างเคร่งครัด เพิ่งจะมาจืดจางลงเมื่อราวครึ่งศตวรรษมานี้เอง ดังที่ปรากฏว่าลูกสมัยนี้นิยมเลือกคู่ด้วยตัวเอง จนกระทั่งอ้างเหตุผลหนักแน่นว่า พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายในการเลือกคู่ครองของลูก ซึ่งเท่ากับเป็นการตรงกันข้ามกับคติเดิม
๕ สยํวรา > สยมฺพรา > สฺวยมฺวรา > สยมพร > สยุมพร ต้นกำเนิดมาจากธิดาของกษัตริย์ที่ไม่พอใจจะให้พระราชบิดาหาสามีให้ตามราชประเพณี แต่ขอเลือกคู่ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีให้ชายหนุ่มทั้งเมืองมาชุมนุมกันแล้วให้นางเลือกคนที่ต้องใจตามปรารถนาโดยการโยนพวงดอกไม้ไปให้ชายที่เลือก วิธีเลือกคู่เช่นนี้เรียกว่า สยํวรา = สยุมพร
นางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ในเรื่องสังข์ทอง นั่นคือตัวอย่างของ “สยุมพร” ที่เรารู้จักกันดี
ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า สยุมพร หมายถึงพิธีแต่งงานทั่วไป ซึ่งไม่ตรงกับความหมายเดิม
: แต่งงานไม่ใช่เล่นขายของ
: อย่าลอง ถ้าไม่มั่นใจ
———–
(ตามข้อสงสัยของ Janya P. Potter)
9-12-58