อัฒจันทร์ (บาลีวันละคำ 1,291)
อัฒจันทร์
อ่านว่า อัด-ทะ-จัน
ประกอบด้วย อัฒ + จันทร์
(๑) “อัฒ”
บาลีเป็น “อฑฺฒ” อ่านว่า อัด-ทะ รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = ทิ้ง, ขว้างไป) + ต ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (อ)-สฺ กับ ต เป็น ฑฺฒ
: อสฺ + ต = อสฺต > อฑฺฒ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ทิ้งจำนวนทั้งหมดไปเสีย” หมายความว่า มีจำนวนทั้งหมดหรือจำนวนเต็ม (multitude, quantity, the whole) อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ “ส่วน” นี้ได้ทิ้งจำนวนเต็มนั้นไป จึงยังคงเหลืออยู่เท่าที่เห็น
“อฑฺฒ” จึงหมายถึง กึ่งหนึ่ง, ครึ่ง (one half, half)
ในภาษาไทยท่านให้ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง อฑฺฒ จึงเขียนเป็น “อัฒ”
(๒) “จันทร”
บาลีเป็น “จนฺท” (จัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ, รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ, แปลงนิคหิตเป็น นฺ, ลบสระที่สุดธาตุ
: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + อ = จนฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ” (คือเมื่อเห็นแล้วผู้คนก็ชื่นใจ พอใจ) (2) “ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ” (คือมีแสงสว่างผ่องใส)
(2) ฉนฺท (ความพอใจ) + ก ปัจจัย, ลบ ก, แปลง ฉ เป็น จ
: ฉนฺท + ก = ฉนฺทก > ฉนฺท > จนฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังความพอใจให้เกิด”
“จนฺท” หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon) คำไทยเรียก “เดือน”
บาลี “จนฺท” สันสกฤตเป็น “จนฺทฺร” (จัน-ทฺระ) ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤต
อฑฺฒ + จนฺท = อฑฺฒจนฺท > อัฒจันทร์ แปลตามศัพท์ว่า “ดวงจันทร์ครึ่งดวง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัฒจันทร์ : (คำนาม) ที่นั่งเป็นขั้น ๆ สําหรับดูการแสดงมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม, ชั้นที่ตั้งของขายหรือก้าวขึ้นลงทําเป็นขั้น ๆ, อรรธจันทร์ ก็ว่า.”
อัฒจันทร์ < อฑฺฒจนฺท เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย
ในภาษาบาลีคำที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “อัฒจันทร์” ในภาษาไทย ใช้คำว่า “มญฺจาติมญฺจ” (มัน-จา-ติ-มัน-จะ : มญฺจ + อติมญฺจ) แปลตามศัพท์ว่า “เตียงซ้อนเตียง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มญฺจาติมญฺจ” ว่า –
bed upon bed, i. e. beds placed on top of each other serving as grand stands at a fair or festival.
เตียงซ้อนเตียง คือ เตียงที่วางซ้อนกันเพื่อเป็นอัฒจันทร์ดูมหรสพหรืองานรื่นเริง
คำเตือน :
๏ ห้ามสูบบุหรี่บนอัฒจันทร์
๏ ห้ามใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพ
: บางอย่าง ทำครึ่งๆ กลางๆ ไม่ดี
: แต่ความดี แม้ทำครึ่งเดียว ก็ยังดีกว่าไม่ทำ
ภาพประกอบ :
ถ่ายจากป้ายประกาศที่สนามกีฬาจังหวัดราชบุรี
11-12-58