พะชอน อิสอนสะเหฺนา (บาลีวันละคำ 1,293)
พะชอน อิสอนสะเหฺนา
เสน่ห์ของวิสามานยนาม
พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ นายทหารเรือนอกราชการเล่าให้ผู้เขียนบาลีวันละคำฟังว่า เพื่อนของท่านเล่าให้ฟังถึงโฆษกหญิง (ซึ่งอาจจะอยู่ในระยะฝึกงาน) ของรายการข่าวทีวีช่องใดช่องหนึ่ง อ่านชื่อท่านผู้มีเกียรติท่านหนึ่งโดยออกเสียงว่า
นาย-พะ-ชอน-อิ-สอน-สะ-เหฺนา
ท่านเล่าว่า หลังจากวันนั้นโฆษกหญิงคนนั้นก็ไม่ได้กลับมาอ่านข่าวอีกเลย
ชื่อที่อ่านว่า พะ-ชอน-อิ-สอน-สะ-เหฺนา นั้นเขียนว่า
“พชร อิศรเสนา”
ชื่อนี้ตามที่ได้ยินมา อ่านว่า พด- อิด-สะ-หฺระ-เส-นา
ท่านเจ้าของชื่อนี้เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตำแหน่งทางราชการสูงสุดคือท่านเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์
ชื่อและนามสกุลของท่าน ถ้าไม่ทราบมาก่อนว่าอ่านอย่างไรถูก ก็ชวนให้สงสัยและอ่านผิดพลาดได้ง่าย เช่น –
“พชร” ถ้าต้องการอ่านว่า พด ทำไมจึงไม่เขียนเป็น “พชร์”
“อิศร” ถ้าอ่านว่า อิด-สะ-หฺระ ทำไมไม่เขียนเป็น “อิสระ”
“เสนา” ถ้ากลัวจะอ่านว่า สะ-เหฺนา ก็ควรเขียนแยกเป็น เส-นา
ในที่นี้ ขอเสนอความหมายของศัพท์แต่ละคำในกรอบของบาลีวันละคำเท่านั้น เพื่อเป็นการเจริญความรู้
(๑) “พชร”
เป็นคำที่เขียนอิงสันสกฤตซึ่งมีรูปเป็น “วชฺร” แผลง ว เป็น พ จึงเป็น “พชร” บาลีเป็น “วชิร” (วะ-ชิ-ระ) รากศัพท์มาจาก วชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิร ปัจจัย
: วชฺ + อิร = วชิร แปลตามรากศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” หรือ “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง” (คือไม่มีอะไรมาขัดขวางการไปนั้นได้)
“วชิร” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) อสนีบาต (a thunderbolt) ซึ่งในทางวรรณคดีหมายถึง อาวุธของพระอินทร์ (Indra’s weapon)
(2) เพชร (a diamond)
“วชิร” ในภาษาไทยใช้เป็น วชิร เหมือนบาลี และแปลงรูปเป็นอีกหลายอย่าง คือ วัชร (ตามสันสกฤต), พชร, พัชร, เพชร, วิเชียร, พิเชียร
คำเหล่านี้เราแปลกันว่า “เพชร” อันที่จริงไม่ใช่แปล แต่ควรเรียกว่าทับศัพท์ เพราะต้องถามต่อไปอีกว่า แล้ว “เพชร” แปลว่าอะไร ?
(๒) “อิศร”
บาลีเป็น “อิสฺสร” อ่านว่า อิด-สะ-ระ (-ระ ไม่ใช่ -หฺระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อิ (แทนศัพท์ว่า อิฏฺฐ = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ
: อิ + อสฺ = อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี-คือเกิดในภูมิที่น่าปรารถนา”
(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย
: อิสฺสฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”
(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) + อร ปัจจัย, ซ้อน ส, รัสสะ (หดเสียง) อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ
: อีสฺ + สฺ + อร = อีสฺสร > อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ”
“อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)
(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)
(๓) “เสนา” (เส-นา)
รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + น ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น เอ (สิ > เส) + อา เครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ > เส + น = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้
“เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)
อภิปราย :
ชื่อและนามสกุลบุคคล ท่านจัดอยู่ในจำพวกวิสามานยนาม (คํานามที่เป็นชื่อเฉพาะ ตั้งขึ้นสําหรับเรียกคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เพื่อให้รู้ชัดว่าเป็นใครหรืออะไร) จะสะกดอย่างไร อ่านออกเสียงอย่างไร และมีความหมายว่าอย่างไร ต้องเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของชื่อหรือของผู้ตั้งชื่อ
ผู้ทำงานเกี่ยวกับข่าวสาร เมื่อต้องเขียนหรือต้องอ่านชื่อเฉพาะเช่นนี้จึงต้องระมัดระวังและรอบคอบเป็นพิเศษ ทราบมาว่าผู้ประกาศข่าวที่มีคุณภาพสูงจะหาข้อมูลและซ้อมอ่านล่วงหน้าก่อนหลายครั้ง
การที่ต้องขวนขวายหาความรู้ที่ถูกต้องก่อนเขียนหรืออ่านเช่นนี้นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของวิสามานยนาม
: คน ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง
: แต่งานในหน้าที่ ถ้าไม่รู้ให้ดีก็เป็นเรื่อง
13-12-58