กหาปณะ (บาลีวันละคำ 830)
กหาปณะ
บาลีเขียน “กหาปณ” อ่านว่า กะ-หา-ปะ-นะ
“กหาปณ” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ร (ที่ กรฺ) เป็น ห, ยืดเสียง อ ที่ –ห เป็น อา : ห > หา, ลง ป อาคม, แปลง ยุ เป็น อน, –น เป็น –ณ
: กรฺ > กห > กหา + ป = กหาป + ยุ > อน > อณ = กหาปณ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องทำการซื้อขาย” หมายถึง เงินตรา
วัตถุที่นำมาใช้ทำกหาปณะมักเป็นโลหะ ในคัมภีร์ระบุว่ามีทั้งสัณฐานแบนเป็นสี่เหลี่ยม, กลม และที่เป็นแท่ง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กหาปณ” เป็นอังกฤษว่า A square copper coin (เหรียญทองแดงสี่เหลี่ยม)
ในภาษาไทย “กหาปณ” เขียนเป็น กหาปณะ (กะ-หา-ปะ-นะ), กษาปณ์ (กะ-สาบ), กระษาปณ์ (กฺระ-สาบ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) กหาปณะ : (แบบ) (คำนาม) เงินตรามีพิกัดเท่ากับ ๒๐ มาสก (ป.).
(2) กษาปณ์ : (แบบ) (คำนาม) กระษาปณ์, เงินตราที่ทําด้วยโลหะ.
(3) กระษาปณ์ : (คำนาม) เงินตราที่ทําด้วยโลหะ เช่น เหรียญกระษาปณ์ โรงกระษาปณ์, กษาปณ์ ก็ใช้. (ส. การฺษาปณ; ป. กหาปณ).
หมายเหตุ :
(1) คำว่า (แบบ) ในบทนิยามของ พจน.หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
(2) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “กหาปณะ” บอกไว้ว่า “เงินตรามีพิกัดเท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๑ ตําลึง คือ ๔ บาท” และคำว่า “กษาปณ์” บอกไว้ว่า “กระษาปณ์, เงินตราที่ทําด้วยโลหะ, ตําลึง (= ๒๐ มาสก) เช่น ได้ถึงร้อยกษาปณ์. (ม. ร่ายยาว ชูชก)”
นั่นคือ พจน.42 ระบุว่า กหาปณะมีอัตราเท่ากับเงินไทย ๑ ตําลึง คือ ๔ บาท แต่ พจน.54 ตัดข้อความที่ระบุเทียบอัตรากับเงินไทยนี้ออกไป
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“กหาปณะ : ชื่อมาตราเงินในสมัยโบราณ ๑ กหาปณะเท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๔ บาท”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายมูลค่าของ “กหาปณ” ไว้ว่า –
(1) 1 กหาปณะ = a farthing (ฟา-ฑิง = เงินฟา-ฑิง หนึ่งในสี่ของเพนนี)
(2) 1 กหาปณะมีอำนาจการซื้อ = a florin (ฟลอ-ริน = เหรียญฟลอ-ริน เหรียญเงินอังกฤษราคาสองชิลลิง)
เงินตรา-กหาปณะ มีสาระฤๅหาไม่ ?
: คนฉลาดสร้างสิ่งที่มีสาระจากสิ่งที่ไม่มีสาระ
: คนเขลาทำสิ่งที่มีสาระให้กลายเป็นสิ่งไร้สาระ
————–
(ตามคำขออันมีสาระของ Nuttachad Harry Chotkhajornthai)
#บาลีวันละคำ (830)
26-8-57