อภิสัมมานสักการะ (บาลีวันละคำ 1,296)
อภิสัมมานสักการะ
ในห้วงเวลาที่จะมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ได้เห็นมีผู้ใช้คำว่า “น้อมถวายอภิสัมมานสักการะ” บ่อยมาก ทำให้มีผู้สงสัยว่า คำว่า “อภิสัมมานสักการะ” แปลว่าอะไร
“อภิสัมมานสักการะ” อ่านว่า อะ-พิ-สำ-มา-นะ-สัก-กา-ระ
ประกอบด้วย อภิสัมมาน + สักการะ
(๑) “อภิสัมมาน-” อ่านว่า อะ-พิ-สำ-มา-นะ- บาลีเขียน “อภิสมฺมาน” มาจาก อภิ + สมฺมาน
1) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
2) “สมฺมาน” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + มานฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
: สํ > สมฺ + มานฺ = สมฺมาน + อ = สมฺมาน แปลตามศัพท์ว่า “การบูชาพร้อมกัน” หมายถึง การยกย่องให้เกียรติ (honour)
อภิ + สมฺมาน = อภิสมฺมาน > อภิสัมมาน หมายถึง การยกย่องบูชาอย่างยิ่งใหญ่ (greatly honour)
(๒) “สักการะ”
บาลีเขียน “สกฺการ” (สัก-กา-ระ) รากศัพท์มาจาก ส (แทนคำว่า สกฺกจฺจํ = โดยเคารพ, โดยระมัดระวัง, โดยถูกต้องหรือสมควร) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน กฺ ระหว่าง ส + กรฺ) ยืดเสียง อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)
: ส + กฺ + กรฺ = สกฺกร + ณ = สกฺกรณ > สกฺกร > สกฺการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ทำด้วยความเคารพ” หมายถึง การต้อนรับ, การให้เกียรติ, การเคารพสักการะ (hospitality, honour, worship)
จะเห็นได้ว่า สมฺมาน กับ สกฺการ มีความหมายคล้ายกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สักการ-, สักการะ : (คำกริยา) บูชาด้วยสิ่งหรือเครื่องอันพึงบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ บูชา เป็น สักการบูชา. (ป.; ส. สตฺการ).”
“สัมมาน” และ “อภิสัมมาน” ไม่มีเก็บไว้ใน พจน.54
อภิสมฺมาน + สกฺการ = อภิสมฺมานสกฺการ > อภิสัมมานสักการะ จึงหมายถึง การยกย่องให้เกียรติเคารพบูชาอย่างยิ่งใหญ่
เมื่อเป็นการยกย่องให้เกียรติ จะใช้แก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือใช้แก่ท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็น่าจะได้ทั้งสองสถาน
การบูชาสักการะในพระพุทธศาสนา ท่านแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ –
อามิสบูชา = บูชาด้วยวัตถุสิ่งของ
ปฏิบัติบูชา = บูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอน
——–
อามิสบูชา เปรียบเหมือนอาหารที่มีรสอร่อย แต่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย
ปฏิบัติบูชา เปรียบเหมือนอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่รสชาติไม่อร่อย
: ดูก่อนภราดา! ท่านพอใจที่จะบริโภคอาหารชนิดเช่นไร
———–
(พระคุณท่าน “มหา บ้านนอก” ถามมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (7 ธ.ค. 2557) ว่า “สัมมานสักการะ” ใช้แก่ท่านผู้ที่ล่วงลับไปควรหรือไม่ประการใด)
16-12-58