อุปถัมภ์ – อุปถัมภก (บาลีวันละคำ 1,699)
อุปถัมภ์ – อุปถัมภก
“อุปถัมภ์” อ่านว่า อุ-ปะ-ถํา ก็ได้ อุบ-ปะ-ถํา ก็ได้
“อุปถัมภก” อ่านว่า อุ-ปะ-ถํา-พก ก็ได้ อุบ-ปะ-ถํา-พก ก็ได้
(ตามพจน.54)
(๑) “อุปถัมภ์”
บาลีเป็น “อุปตฺถมฺภ” (อุ-ปัด-ถำ-พะ) รากศัพท์มาจาก –
1) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ถมฺภฺ (ธาตุ = ผูกติด) + อ ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ตฺ + ถมฺภ)
: อุป + ตฺ + ถมฺภ = อุปตฺถมฺภ + อ = อุปตฺถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปผูกติดไว้”
2) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺภ ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ตฺ + ธรฺ), แปลง ธ ที่ ธ-(รฺ) เป็น ถ, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺภ > มฺภ)
: อุป + ตฺ + ธรฺ > ถรฺ = อุปตฺถร + รมฺภ = อุปตฺถรรมฺภ > อุปตฺถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปรองรับไว้”
3) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ถมฺภ (เสา), ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับ ถมฺภ (อุป + ตฺ + ถมฺภ)
: อุป + ตฺ + ถมฺภ = อุปตฺถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปเป็นเสา”
“อุปตฺถมฺภ” (ปุงลิงค์) หมายถึง –
(1) การอุปถัมภ์, การส่งเสริม, การค้ำจุน (a support, prop, stay)
(2) การปลดเปลื้อง, การปล่อยทุกข์ (relief, ease)
(3) การให้กำลังใจ (encouragement)
“อุปตฺถมฺภ” ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “อุปถัมภ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปถัมภ์ : (คำนาม) การคํ้าจุน, การคํ้าชู, การสนับสนุน, การเลี้ยงดู. (คำกริยา) คํ้าจุน, คํ้าชู, สนับสนุน, เลี้ยงดู. (ป. อุปตฺถมฺภ; ส. อุปสฺตมฺภ).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “อุปตฺถมฺภ” สันสกฤตเป็น “อุปสฺตมฺภ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อุปสฺตมฺภ : (คำนาม) เครื่องบำรุงชีวิต, เช่น อาหาร, การหลับนอน, การระงับราคะ; support of life, as food, sleep, restraint of the passions.”
(๒) “อุปถัมภก”
บาลีเป็น “อุปตฺถมฺภก” (อุ-ปัด-ถำ-พะ-กะ) รากศัพท์มาจาก อุปตฺถมฺภ (จากข้อ (๑) “อุปถัมภ์”) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: อุปตฺถมฺภ + ณฺวุ > อก = อุปตฺถมฺภก (คุณศัพท์) แปลว่า “ผู้อุปถัมภ์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปตฺถมฺภก” ว่า holding up, supporting, sustaining (ยกขึ้นไว้, อุดหนุน, ค้ำจุน, บำรุง)
“อุปตฺถมฺภก” ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “อุปถัมภก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปถัมภก : (คำนาม) ผู้คํ้าจุน, ผู้ค้ำชู, ผู้สนับสนุน, ผู้เลี้ยงดู. (ป. อุปตฺถมฺภก; ส. อุปสฺตมฺภก).”
…………..
อภิปราย :
ในภาษาไทย มีคำพูดว่า “อุปถัมภ์ค้ำชู” นอกจากจะเป็นคำคล้องจองแล้ว “ค้ำชู” ก็ยังเป็นคำแปลของ “อุปถัมภ์” ไปด้วยในตัว
ในสังคมไทย มีคำพูดว่า “ระบบอุปถัมภ์” หมายถึง การหาทางช่วยเหลือให้ญาติพี่น้องลูกหลานเพื่อนฝูงเข้ารับราชการหรือให้มีตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงาน เป็นวิธีที่รู้จักกันในคำธรรมดาว่า “ฝากเข้าทำงาน” หรือ “ฝากเข้าเรียน”
ทั้งนี้รวมถึงเมื่อมีโอกาสให้คุณ ก็สนับสนุนค้ำจุนให้ได้ประโยชน์มากเป็นพิเศษ และถ้ามีการทำผิด ก็ช่วยกันปกปิด ปกป้อง ปัดเป่า ไม่ให้ได้รับโทษหรือได้รับน้อยที่สุด
นักสังคมวิทยาบอกว่า มิใช่เฉพาะในสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์มีอยู่ในทุกสังคม
ส่วนคำว่า “อุปถัมภก” ที่เราคุ้นกันดีก็คือถ้อยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” (อัคร + ศาสน + อุปถัมภก) (ดูเพิ่มเติมที่ : “อัครศาสนูปถัมภก” บาลีวันละคำ (1,612) 2-11-59)
หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไทยแม้จะทรงนับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงศาสนาทุกศาสนาที่มีอยู่ในแผ่นดินไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านจะสำคัญความสองข้อนี้เป็นไฉน?
Forgive your enemies,
but never forget their names.
: จงให้อภัยศัตรู
: แต่อย่าลืมจำชื่อพวกมันไว้
John F. kennedy
…………
Forget those who you have helped,
but never forget those who have helped you.
: จงลืมผู้ที่เราอุปถัมภ์เสียให้สนิท
: แต่จงจำไว้ตราบเท่าชีวิตถึงผู้ที่อุปถัมภ์เรา
————-
(ขอบคุณ Silapakorn Sangsinchai ผู้อุปถัมภ์คำแปลภาษาอังกฤษในความข้อสอง)
28-1-60