บาลีวันละคำ

โคตร ไม่ใช่ “โครต” (บาลีวันละคำ 2,638)

โคตร ไม่ใช่ “โครต

โคตร” อ่านว่า โคด

บาลีเป็น “โคตฺต” อ่านว่า โคด-ตะ

โคตฺต” รากศัพท์มาจาก –

(1) โค (ชื่อ, ความรู้) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างบทหน้าและธาตุ (โค + ตฺ + ตา), ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > )

: โค + ตฺ + ตา = โคตฺตา > โคตฺต + = โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่รักษาชื่อเสียงไว้” “เชื้อสายที่รักษาชื่อและความรู้ไว้

(2) คุปฺ (ธาตุ = รักษา, คุ้มครอง) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ คุ-(ปฺ) เป็น โอ แล้วแปลง เป็น (คุปฺ > โคปฺ > โคตฺ)

: คุปฺ > โคปฺ > โคตฺ + = โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายอันเขาคุ้มครองไว้

โคตฺต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง เชื้อสาย, วงศ์, ตระกูล, เทือกเถาเหล่ากอ, เผ่าพันธุ์ (ancestry, lineage)

บาลี “โคตฺต” สันสกฤตเป็น “โคตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของคำว่า “โคตฺร” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โคตฺร : (คำนาม) ‘โคตร์,’ กุล, วงศ์, วงศาวลี, สันตติ, ญาติ; นาม, ชื่อ; อรัณย์, ป่า; เกษตร์, นา; ฉัตร, ร่ม; มารค, ทาง; ความรู้ถึงอนาคตกาล, ความล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคต; เภท, ประเภท, ชนิด; ชาติ์, วรรค, อุปศาขาหรือประวิภาคชาติ์ลงเปนวงศ์, เช่นในวงศ์พราหมณ์พึงนับได้ยี่สิบสี่โคตร์, คาดกันว่าเกิดจากและได้นามตามประสิทธาจารย์, ดุจศาณฺฑิลฺย (โคตร์), กาศฺยป (โคตร์), เคาตม (โคตร์), ภรัชฺวาชฺ (โคตร์), ฯลฯ; วรรธนะ, วรรธนการ; ธน, ทรัพย์, สมบัติ; ภูมณฑล, โลก; โคกุล, ฝูงโค; บรรพต; family, race, lineage, kin; a name, an appellation; a forest; a field; an umbrella or parasol; a road, a way; knowledge of futurity, inspiration; genus, a class or species; a caste, a tribe, a subdivision of tribe into families, as in that of the Brahman twenty-four Gotras are reckoned, supposed to be sprung from and named after celebrated teachers, as Śâṇḍilya (gotra), Kâśyapa (gotra), Gautama (gotra), Bharadwâj (gotra), &c.; increase; wealth, riches, property; the earth; a herd of kine; a mountain.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โคตร, โคตร– : (คำนาม) วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คํานี้บางทีก็นําไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคําด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล).”

ความหมายเด่นในภาษาไทย “โคตร” ก็คือ “นามสกุล” หรือที่คนจีนเรียกว่า “แซ่” นั่นเอง

เนื่องจาก “โคตร” มักมีการสืบสาวไปจนถึงรากเหง้าหรือเทือกเถาเหล่ากอ คำนี้จึงมีนัยหมายถึงการเข้าถึงจุดใจกลางหรือที่สุดของสิ่งนั้นๆ ในภาษาปากจึงนิยมใช้ในความหมายว่า ลึกซึ้งที่สุด มากที่สุด หนักหนาสาหัสที่สุดของสิ่งนั้นๆ เช่น

– “โคตรสวย” = สวยมากๆ

– “โคตรซวย” = ซวยที่สุด

– “เลขข้อนี้โคตรยาก” = ยากที่สุด

อภิปราย :

๑ ภาษาปากนิยมเอาคำว่า “โคตร” ซึ่งเป็นคำขยายไว้ข้างหน้าคำที่ถูกขยาย อันเป็นลักษณะของภาษาตระกูล Indo-European แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษเป็นอันมาก

๒ “โคตร” มักจะมีผู้สะกดผิดเป็น “โครต” คือสลับเอา มาไว้หน้า ประหนึ่งว่า –คร– เป็นคำควบกล้ำ คือต้องอ่านเป็น คฺโรด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากอาการสมองกลับ เห็นรูปคำผิดไปจากความเป็นจริง

การสะกดผิดเช่นนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของปุถุชน แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มความระมัดระวัง ฝึกสงสัยไว้ทุกครั้งที่สะกดคำแปลกๆ และหมั่นเปิดพจนานุกรม

…………..

ขอเรียนว่า การเอาเรื่องเช่นนี้มาเขียนไม่ใช่จับผิด แต่เป็นการชี้โทษ

“จับผิด” คือเขาทำเป็นการส่วนตัว ไม่เปิดเผย ก็เที่ยวไปขุดคุ้ยหาข้อบกพร่องเอามาตำหนิ มุ่งจะให้เกิดความเสียหายแก่เขา แบบนี้ไม่ควรทำ

“ชี้โทษ” คือเขาทำโดยเปิดเผย ไม่ได้ปกปิดใคร เห็นกันทั่วไป ไม่ต้องขุดคุ้ย แต่ผู้ทำไม่รู้ตัวว่ามีข้อบกพร่อง จึงต้องชี้ให้เห็น บอกให้รู้ด้วยเจตนาจะไม่ให้ทำผิดเช่นนั้นอีก แบบนี้ควรทำ แต่ก็ควรรู้กาลเทศะ

เวลานี้สังคมไทยจับทางไม่ถูก แยกไม่เป็น เห็นการชี้โทษเป็นการจับผิดไปหมด ใครยกข้อบกพร่องของใครขึ้นมาพูดเป็นต้องถูกรุมประณามว่า หมอนี่ดีแต่จับผิดชาวบ้านเขา

คนทั้งหลายพอได้ยินคำตำหนิแบบนี้ก็ไม่อยากเข้าไปแตะต้อง เรื่องผิดๆ จึงถูกปล่อยปละละเลย ไม่มีการแก้ไข

ท่าทีแบบนี้กลายเป็นการช่วยปกป้องคนผิดไปโดยปริยาย ซ้ำกลายเป็นข้ออ้างอย่างดี คืออ้างว่า ถ้าที่ฉันทำมันผิด ก็ต้องมีคนทักท้วงสิ นี่ไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย

คนทำผิดจึงไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขการกระทำของตน เรื่องผิดๆ ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ก็เท่ากับเราช่วยกันสร้างค่านิยมเกรงใจกันผิดๆ เห็นการปล่อยวางไม่เอาธุระเป็นเรื่องดี (bad tradition)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สังคมวิปริต

: เพราะเห็นคนทำผิดแล้วปล่อยเลยตามเลย

#บาลีวันละคำ (2,638)

2-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย