มิคสัญญี (บาลีวันละคำ 645)
มิคสัญญี
อ่านว่า มิ-คะ-สัน-ยี, มิก-คะ-สัน-ยี
ประกอบด้วย มิค + สัญญี
บาลีเขียน “มิคสญฺญี”
“มิค” (มิ-คะ) หมายถึง สัตว์ป่ามีกวาง อีเก้งเป็นต้น
รูปคำสันสกฤตที่คุ้นในภาษาไทยคือ “มฤค” (มะ-รึก) เช่นในคำว่า “มฤคทายวัน”
“มิค – มฤค” แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ถูก (มนุษย์ที่กินเนื้อ และสัตว์ที่แข็งแรงกว่า) เบียดเบียน” “สัตว์ที่หากินไปทางโน้นทางนี้” “สัตว์อันนายพรานตามล่าเพื่อเลี้ยงชีพ”
“สญฺญี – สัญญี” มาจาก สญฺญา + อี (ปัจจัย)
“สญฺญา” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ” มีความหมายหลายอย่าง คือ
– ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้
– ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก
– แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ
– สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย
ในภาษาอังกฤษ คำต่อไปนี้มีความหมายในบางแง่ตรงกับ “สญฺญา” คือ sense, consciousness, perception, discernment, recognition, assimilation of sensations, awareness, conception, idea, notion, sign, gesture, token, mark
สญฺญา + อี = สญฺญี แปลว่า “ผู้มีสัญญา” หมายถึง ผู้มีความรู้สึกหรือความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
มิค + สัญญี = มิคสัญญี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความเข้าใจว่าเป็นเนื้อ” หมายถึง ผู้ที่เมื่อเห็นใครเข้าสักคน ก็นึกว่าผู้นั้นเป็นเนื้อ
“มิคสัญญี” เป็นคำเรียกยุคสมัยที่จะมาถึงในวันข้างหน้า เป็นสมัยที่คนเห็นคนด้วยกันเป็นสัตว์ที่จะต้องไล่ล่า อย่างที่สำนวนพูดว่า “ฆ่ากันเป็นผักเป็นปลา”
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“มิคสัญญี : ชื่อยุคหนึ่งที่มีแต่รบราฆ่าฟันเบียดเบียนกัน”
มีพระบาลีในจักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 47 ขออัญเชิญมาเพื่อเจริญสติดังนี้ –
ทสวสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ สตฺตาหํ สตฺถนฺตรกปฺโป ภวิสฺสติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ 10 ปี จักมีสัตถันดรกัปสิ้น 7 วัน
(สัตถันดรกัป : ห้วงเวลาซึ่งถือว่าคนเสื่อมจากศีลธรรมอย่างที่สุด มีการรบราฆ่าฟันกัน ไม่รู้จักญาติพี่น้อง)
เต อญฺญมญฺญํ มิคสญฺญํ ปฏิลภิสฺสนฺติ
มนุษย์ทั้งหลายจักมองเห็นกันและกันว่าเป็นเนื้อ
เตสํ ติณฺหานิ สตฺถานิ หตฺเถสุ ปาตุภวิสฺสนฺติ
ศัสตราทั้งหลายอันคมจักปรากฏมีในมือของพวกเขา
เต ติเณฺหน สตฺเถน เอส มิโคติ อญฺญมญฺญํ ชีวิตา โวโรปิสฺสนฺติ ฯ
พวกเขาจะฆ่ากันเองด้วยศัสตราอันคมนั้นโดยสำคัญว่า นี่เป็นเนื้อ
คัมภีร์อรรถกถา (สุมังคลวิลาสินี ภาค 3 หน้า 62) ขยายความไว้ตอนหนึ่งว่า –
มิคสญฺญนฺติ อยํ มิโค อยํ มิโคติ สญฺญํ ฯ
คำว่า มิคสญฺญํ หมายความว่า มนุษย์สำคัญกันว่า ผู้นี้เป็นเนื้อ ผู้นี้เป็นเนื้อ.
ติณฺหานิ สตฺถานิ หตฺเถสุ ปาตุภวิสฺสนฺตีติ เตสํ กิร หตฺเถน ผุฏฺฐมตฺตํ
ยงฺกิญฺจิ อนฺตมโส ติณปณฺณํ อุปาทาย อาวุธเมว ภวิสฺสติ ฯ
คำว่า ติณฺหานิ สตฺถานิ หตฺเถสุ ปาตุภวิสฺสนฺติ หมายความว่า กล่าวกันว่าสำหรับมนุษย์ในยุคนั้น สิ่งของอะไรๆ ที่พอจะหยิบฉวยได้ โดยที่สุดกระทั่งใบหญ้า ก็จะกลายเป็นอาวุธไปเสียทั้งนั้น
: แม้จะเกิดในยุคมิคสัญญี ก็ไม่มีใครบังคับให้เราทำชั่ว
: ดอกบัวเกิดจากตม ก็ไม่ได้เป็นตมไปด้วยมิใช่หรือ
21-2-57