บาลีวันละคำ

วิสัญญีแพทย์ (บาลีวันละคำ 646)

วิสัญญีแพทย์

อ่านว่า วิ-สัน-ยี-แพด

ประกอบด้วย วิ + สัญญี + แพทย์

วิ” ปกติเป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

แต่ “วิ” ในคำนี้ย่อมาจากคำว่า “วิคต” (วิ-คะ-ตะ) แปลว่า ออกไป, หายไป, ขาดไป, สิ้นสุด, สูญหาย, ปราศจาก

สัญญี” บาลีเขียน “สญฺญี” มาจาก สญฺญา + อี (ปัจจัย)

สญฺญา” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ” มีความหมายหลายอย่าง เช่น ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, ความรับรู้, ความจำได้ (ดูเพิ่มเติมที่ “มิคสัญญี” บาลีวันละคำ (645) 21-2-57)

กระบวนการทางไวยากรณ์ว่า –

วิคตา  สญฺญา  เอตสฺมาติ  วิสญฺญา (วิคะตา สัญญา เอตัสมาติ วิสัญญา) แปลว่า “สัญญา-ความรู้สึกตัว ออกไป จากผู้นั้น เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า วิสญฺญา”

: วิ + สญฺญา = วิสญฺญา + อี = วิสญฺญี > วิสัญญี แปลว่า “ผู้ปราศจากความรู้สึกตัว

แพทย์” บาลีเป็น “เวชฺช” (เวด-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้วิชารักษาโรค” “ผู้รู้การเยียวยา

เวชฺช” สันสกฤตเป็น “ไวทฺย” (ไว-ทฺยะ อ่านว่า ไว-เทียะ จะได้เสียงตรง) ไทยเราแผลงเป็น “แพทย์” : ไอ เป็น แอ แบบเดียวกับ ไสนฺย เป็น แสนย- เช่นคำว่า แสนยากร (ไสนฺย + อากร), แสนยานุภาพ (ไสนฺย + อานุภาว)

วิสัญญี + แพทย์ = วิสัญญีแพทย์ ถ้าแปลเท่าตาเห็น ต้องแปลว่า “แพทย์ผู้หมดความรู้สึกตัว

แต่คำนี้เป็นคำสมาสชนิดละไว้ฐานเข้าใจ (ภาษาบาลีไวยากรณ์ว่า “มัชเฌโลป” = ลบกลางคำ หรือลบคำกลาง) คำแปลเต็มๆ คือ “แพทย์ผู้ (ทำให้ผู้ป่วย) หมดความรู้สึกตัว

พจน.42 บอกไว้ว่า –

วิสัญญีแพทย์ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการให้ยาชาและยาสลบ”

คำที่มีความหมายคล้ายกับ “วิสัญญี” คือ “อสัญญี” พจน.42 บอกความหมายว่า “ไม่มีสัญญา, หมดความรู้สึก, สลบ

แต่ความหมายในทางลึกต่างกัน

อสัญญี” ใช้กับผู้ที่ไม่มีความรู้สึกคือไม่มีจิตอยู่แล้วตามปกติ เช่น “อสัญญีสัตว์” (พรหมพวกหนึ่ง มีรูป แต่ไม่มีสัญญา ที่เราเรียกกันว่า “พรหมลูกฟัก”)

ส่วน “วิสัญญี” หมายถึงปกติก็มีความรู้สึกหรือมีจิต แต่ถูกทำให้หมดความรู้สึกตัวชั่วคราวด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง

: อย่าปล่อยให้จิตที่คิดจะทำดีวิสัญญีอยู่นาน

: เพราะพญามารไม่เคยคอยใคร

—————–

(ตามคำถามของ Wanwisa Wanchana)

22-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย