บาลีวันละคำ

ครรภ-ครรภ์ (บาลีวันละคำ 651)

ครรภ-ครรภ์

บาลีเป็น “คพฺภ” อ่านว่า คับ-พะ

คพฺภ” มีความหมายหลายอย่าง คือ –

1. ภายใน, โพรง (interior, cavity) = ภายในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลวงหรือว่าง

2. ห้องใน, ห้องส่วนตัว, ห้องนอน, กุฏิ (an inner room, private chamber, bedroom , cell) = ห้อง

3. ความพองขึ้นของมดลูก (ตั้งท้อง), ครรภ์ (the swelling of the (pregnant) womb, the womb) = ตั้งท้อง

4. สิ่งที่อยู่ในมดลูก, ไข่ที่กลายเป็นตัวอ่อน, ลูกอ่อนในครรภ์ (the contents of the womb, the embryo, foetus) = ลูกในท้อง

คพฺภ” สันสกฤตเป็น “ครฺภ” และ “ครฺพฺภ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ครรภ” และมีรูปคำประกอบได้หลายคำ คือ ครรภ, ครรภ-, ครรภ์

(1) “ครรภ” อ่านว่า คับ มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น

ธาตุครรภ (ทา-ตุ-คับ) = ส่วนสําคัญของพระสถูปหรือพระปรางค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุไว้ภายใน ที่เรียกว่า เรือนธาตุ

(2) “ครรภ-” สังเกตขีด – ท้ายคำ หมายความว่าเป็นส่วนหน้าของคำสมาส คือจะต้องมีคำอื่นมาต่อท้าย อ่านว่า คับ-พะ- (ต่อด้วยคำอื่น) เช่น

ครรภธาตุ (คับ-พะ-ทาด) = ส่วนสำคัญของพระสถูปหรือพระปรางค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุไว้ภายใน (ความหมายเดียวกับ “ธาตุครรภ” เพียงแต่สลับที่กัน)

ครรภธาตุมณฑล (คับ-พะ-ทาด-ตุ-มน-ทน) = ภาวะอันแท้จริงของพระพุทธเจ้าซึ่งอยู่ในสรรพสัตว์ แต่ยังไม่ได้สําแดงให้ปรากฏ (เป็นความหมายตามลัทธิมหายาน)

(3) “ครรภ์” มีการันต์ที่ ภ์ อ่านว่า คัน (ระวังอย่าอ่านว่า ครัน รร ไม่ใช่ ควบกล้ำ แต่เป็น “ร หัน” คือ ที่ทำหน้าที่อย่างไม้หันอากาศ) เขียนอย่างนี้มักใช้ในความหมายว่า ตั้งท้อง หรือ มีลูกในท้อง เช่น ตั้งครรภ์, มีครรภ์ (the womb, the embryo, foetus, pregnant)

สันนิษฐานสนุกๆ :

1. “คพฺภ” นอกจากแปลว่า “ท้อง (ใส่ลูก)” แล้ว ยังแปลว่า “ห้อง” คือ ส่วนที่มีขอบเขตกั้นไว้ และข้างในว่างหรือกลวง (interior, cavity) ซึ่งถ้าพิจารณาดู “ท้องใส่ลูก” ก็จะเข้าลักษณะเป็น “ห้อง” แบบหนึ่ง

2. “คพฺภ” ที่หมายถึง “ท้องใส่ลูก” นั้นเดิมอาจจะเรียกว่า “ห้อง” ( หีบ) นั่นเอง แต่ด้วยอุบัติเหตุจากการเขียนอักษร เนื่องจาก มีโครงสร้างคล้ายกัน ทำให้มีผู้อ่าน “ห้อง” เป็น “ท้อง” ( ทหาร) แบบเดียวกับที่อ่าน “ใน” (สระ ใ- น หนู เขียนหวัด) เป็น “

3. คำว่า “ท้อง” (< ห้อง < ครรภ์ < คพฺภ) ในภาษาไทยจึงหมายถึงตั้งครรภ์ อันเป็นความหมายของ “คพฺภ” ในภาษาบาลีไปโดยไม่ตั้งใจ

4. แต่เมื่อสันนิษฐานเช่นนี้แล้วย่อมเกิดปัญหาว่า อวัยวะที่เราเรียกว่า “ท้อง” นั้นถ้าไม่เรียก “ท้อง” (สมมุติว่าเชื่อว่า “ท้อง” เพี้ยนมาจาก “ห้อง”) จะเรียกว่าอะไร? ก็คงต้องนึกถึงคำว่า “พุง

5. เมื่อนึกถึงคำว่า “พุง” สำนวนที่ว่า “ท้องยุ้งพุงกระสอบ” ที่หมายถึงคนกินจุ ก็ตามมา มีคำว่า “ท้อง” อยู่ด้วย ซ้ำมาก่อน “พุง” เสียอีก

6. ก็ต้องสืบค้นต่อไปว่า “พุง” กับ “ท้อง” คำไหนเก่ากว่า การที่ “ท้องยุ้ง” มาก่อน “พุงกระสอบ” ไม่เป็นประมาณว่าคำไหนเก่ากว่า เพราะเป็นการพูดเพื่อให้ได้สัมผัสตามลีลากลอนเท่านั้น

7. ใครอยากได้ปัญญาความรู้ทางภาษาก็ร่วมคิดร่วมค้นกันต่อไป แต่ไม่จำต้องเป็นต้องเห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานเสมอไป เพราะสันนิษฐานก็ยังผิดได้

พ่อแม่เลือก “ครรภ์” ได้ –

: พ่อแม่สกปรก สัตว์นรกมาเกิด

: พ่อแม่อันธพาล เดรัจฉานมาเกิด

: พ่อแม่โหดร้าย อสุรกายมาเกิด

: พ่อแม่เป็นสัมมา เทวดามาเกิด

27-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย