บาลีวันละคำ

พลี (บาลีวันละคำ 652)

พลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “พลี” ไว้ 3 คำ และบอกไว้ดังนี้ –

(1) พลี ๑ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำนาม หมายถึง การบวงสรวง, เครื่องบวงสรวง, ส่วย, การบูชา

(2) พลี ๒ อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ) เป็นคำกริยา หมายถึง (1) เสียสละ เช่น พลีชีพเพื่อชาติ (2) บวงสรวงเชิญเอามา (ใช้แก่ยาสมุนไพร) เช่น ไปพลียาที่ต้นเทียน คือ ไปบวงสรวงเก็บต้นเทียนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเทียนมาทำยารักษาโรค

(3) พลี ๓ อ่านว่า พะ-ลี เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง มีกําลัง

พลี” บาลีว่าอย่างไร

(๑) “พลี” ตามข้อ (1) บาลีเป็น “พลิ” อ่านแยกเป็น 2 พยางค์ คือ พะ-ลิ (เขียนเป็นอักษรโรมันจะเห็นชัด คือ BALI : BA = พะ LI = ลิ) มีความหมาย 3 อย่าง คือ –

1 เครื่องบวงสรวง, เครื่องเซ่น (religious offering, oblation)

2 ภาษี, อากร (tax, revenue)

3 ชื่อของอสูรตนหนึ่ง (proper name, proper noun of an Asura)

(๒) “พลี” ตามข้อ (2) ไม่มีในบาลี สันนิษฐานว่าเป็น “พลี” ตามข้อ (1) นั่นเอง แต่เอามาใช้ตามความหมายของไทย คือ การจัดสรรทรัพย์หรือสิ่งของเพื่อบูชา สงเคราะห์ หรือเพื่ออุทิศ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราให้ความหมายว่า “เสียสละ” ส่วนที่อ่านว่า พฺลี (พฺล ควบกล้ำ ไม่ใช่ พี และไม่ใช่ พะ-ลี) ก็คงเกิดจากการอ่านตามความเข้าใจของบางคน แล้วกลายเป็นความนิยมไป คือผิดจนถูกไปแล้ว

(๓) “พลี” ตามข้อ (3) ศัพท์เดิมก็คือ “พล” (พะ-ละ) ที่แปลว่า “กำลัง” (strength, power, force, an army, military force) เช่นคำว่า “พลศึกษา” หรือคำที่พูดควบกันว่า “พละกำลัง

: พล + อี = พลี แปลว่า “มีกำลัง” (strong) คำนี้อ่านว่า พะ-ลี 2 พยางค์แน่นอน เพราะคำเดิมคือ พะ-ละ

พลี” ในคำสอนของพระพุทธศาสนา (พลี ๑) :

คือ สละเพื่อช่วยหรือบูชา หมายถึงการจัดสรรสละรายได้หรือทรัพย์บางส่วนเป็นค่าใช้จ่ายประจำสำหรับการทำหน้าที่เกื้อกูลต่อผู้อื่นและการสงเคราะห์ช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ, การทำหน้าที่เกื้อกูลต่อผู้อื่นและการสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน ที่พึงปฏิบัติยามปกติเป็นประจำโดยใช้รายได้หรือทรัพย์ที่จัดสรรสละเตรียมไว้สำหรับด้านนั้นๆ มี 5 คือ –

1. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ

2. อติถิพลี ต้อนรับแขก

3. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (คำนี้ พจน.42 สะกด บุพเปตพลี)

4. ราชพลี ถวายเป็นหลวง หรือบำรุงราชการ เช่น เสียภาษีอากร

5. เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา

: พลีชาติเพื่อชีพ – บาปอุบาทว์

: พลีชีพเพื่อชาติ – บุญอุดม

28-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย