บาลีวันละคำ

วุฒิภาวะ [1] (บาลีวันละคำ 653)

วุฒิภาวะ [1]

อ่านว่า วุด-ทิ-พา-วะ

บาลีเป็น “วุฑฺฒิภาว” อ่านว่า วุด-ทิ-พา-วะ

ประกอบด้วย วุฑฺฒิ + ภาว

วุฑฺฒิ” แปลว่า การเพิ่ม, ความเจริญ, ความงอกงาม, ความคืบหน้า, ความรุ่งเรือง (increase, growth, furtherance, prosperity)

วุฑฺฒิ” ในบาลีเป็นอาการนาม หรือภาวนาม หมายถึงสภาพหรืออาการ ไม่ได้หมายถึงบุคคล แต่ในภาษาไทยอาจอนุโลมใช้เป็นคุณนาม หมายถึง ผู้เจริญแล้ว, ผู้เฒ่า, คนแก่, ผู้สูงอายุ ได้ด้วย

วุฑฺฒิ” เขียนในภาษาไทยตัด ออก ตามวิธีตัดตัวซ้อน เช่น

รฏฺฐ ตัด เป็น รัฐ

วฑฺฒน ตัด เป็น วัฒน

วุฑฺฒิ” จึงเขียนเป็น “วุฒิ” แต่ก็คงอ่านว่า วุด-ทิ เหมือนคำเดิม

ภาว” แปลว่า ความมี, ความเป็น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาว” ไว้ดังนี้ –

๑. being, becoming, condition, nature (ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ)

๒. cultivation or production by thought, mental condition (การปลูกฝัง หรือการผลิตผลด้วยความคิด, ภาวะทางใจ)

วุฑฺฒิ + ภาว = วุฑฺฒิภาว > วุฒิภาวะ เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า maturity

พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกไว้ไว้ดังนี้ –

วุฒิภาวะ : ความเป็นผู้ใหญ่ (maturity) หมายถึง ภาวะที่มนุษย์พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม อันเป็นที่ยอมรับ เช่น สามารถคิดอย่างรอบคอบ ใช้เหตุผล มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความรับผิดชอบ กล้าเผชิญปัญหาอย่างสุขุม ไม่วู่วาม

พจนานุกรม สอ เสถบุตร ให้ความหมายคำว่า maturity ไว้ดังนี้ –

1. แก่

2. สุก, ทำให้สุก, บ่ม, เก็บไว้ให้ได้ที่, ได้ที่

3. เป็นผู้ใหญ่, ครบอายุ, ถึงกำหนด

4. (ตรึกตรอง) โดยรอบคอบ

ในพุทธประวัติปรากฏเรื่องว่า พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสสอนบุคคลบางคนแม้จะอยู่ใกล้ชิด โดยทรงรอคอยสิ่งที่เรียกว่า “ญาณปริปาก” (ยา-นะ-ปะ-ริ-ปา-กะ)

ญาณ” แปลว่า ความรู้จักคิด ความรู้แจ้งเห็นจริง หรือ ปัญญา

ปริปาก” ฝรั่งแปลว่า ripeness, maturity, development, perfection

โปรดสังเกตคำว่า maturity ในคำแปลนี้ ที่เราเอามาบัญญัติศัพท์ว่า “วุฒิภาวะ” ก็คือ “ญาณปริปาก” ในบาลีนั่นเอง

นักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมแปล “ญาณปริปาก” ว่า “ความแก่รอบแห่งญาณ” หรือ “ปัญญาแก่

: ในสมัยพุทธกาล คนอายุอ่อน เช่นเด็กอายุ 7 ขวบ แต่ “ปัญญาแก่” สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์ มีเป็นจำนวนมาก

: สมัยนี้ คนอายุแก่ แต่ “ปัญญาอ่อน” คิดอะไรเองไม่เป็น ก็มีเป็นจำนวนมาก

1-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย