บาลีวันละคำ

ขอขมา (บาลีวันละคำ 656)

ขอขมา

(บาลีปนไทย)

อ่านว่า ขอ-ขะ-มา

ขอ” เป็นคำไทย หมายถึง พูดให้เขาให้สิ่งที่ต้องการ

ขมา” บาลีเป็น “ขม” อ่านว่า ขะ-มะ ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า อดทน, ให้อภัย (patient, forgiving) อดกลั้น, ทนได้, แข็งแกร่งต่อ (ความหนาวและความร้อน), เหมาะแก่ (enduring, bearing, hardened to (frost & heat), fit for)

ขม” คำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “ขมติ” (ขะ-มะ-ติ) มีความหมายดังนี้ –

1. อดทน, อดกลั้น, ให้อภัย (to be patient, to endure, to forgive)

2. เหมาะสม, ดูเหมือนจะดี (to be fit, to seem good)

3. เหมาะเจาะ, ตามใจชอบ, เห็นชอบด้วย (to be fit for, to indulge in, to approve of)

ถ้าเป็น “ขมาเปติ” (ขะ-มา-เป-ติ ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า เหตุกรรตุวาจก ไวยากรณ์ไทยเรียก การิตวาจก) มีความหมายว่า ทำให้สงบ, ขอให้ยกโทษ, สั่งให้ขอโทษ (to pacify, to ask one’s pardon, to apologize)

ถ้าพูดว่า “ข้าพเจ้าขอโทษ” (I beg your pardon) คำกริยาภาษาบาลีว่า “ขมามิ” (ขะ-มา-มิ)

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

(1) ขมา : (คำกริยา) กล่าวคําขอโทษ เช่น ไปขมาศพ (คำนาม) การยกโทษให้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยอมรับผิด เช่น ขอขมา, ษมา ก็ใช้

(2) ขอขมา : ขอให้ยกโทษให้เมื่อตัวเองรู้สึกผิด, ขอษมา ก็ใช้

ความหมายนี้คนเก่านิยมพูดว่า “สมัครสมา” (สะ-หฺมัก-สะ-มา)

ความเห็น :

1. “ขมา” อาจกร่อนมาจากเสียงคำกริยา “ขมาเปติ” หรือ “ขมามิ” ในบาลี หรืออีกนัยหนึ่ง “ขม” คำเดิมนั่นเอง แต่ออกเสียงพยางค์ท้ายยืดไปแบบหยุดไม่สนิท ขะ-มะ จึงเป็น ขะ-มา

2. นาวาตรี มนัส บำรุงศรี นายทหารเรือเหล่าสื่อสาร (ถึงแก่กรรมแล้ว) สันนิษฐานว่า “ผ้าขาวม้า” น่าจะมาจากคำว่า “ผ้าขมา” คือผ้าที่ปูกราบเมื่อขอขมา หรือผ้าที่มอบให้เมื่อไปขอขมาเป็นทำนองสินน้ำใจไถ่โทษ

3. “ขมา” (“ขม” ในบาลี) มีความหมายเหมือน “ขันติ” ที่เราแปลกันว่า “ความอดทน” ฝรั่งแปล “ขนฺติ” ว่า patience, forbearance, forgiveness (ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย)

4. ในภาษาไทยมีคำว่า “ขม” (รสอย่างหนึ่งอย่างรสสะเดาหรือบอระเพ็ด) โดยปกติถ้าลิ้มรสขม เช่นกินยาขม เราต้องทนกลืน และมีคำว่า “ข่ม” (บังคับ เช่น ข่มใจ ข่มอารมณ์) ก็ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นเป็นพิเศษ : ขมข่มขมา อักษรและความหมายมีนัยสอดคล้องกันอย่างน่าสังเกต

เมื่อทำผิดพลาดลงไป :

คนกล้าหาญเท่านั้นที่สามารถขอขมาได้

ทั้งด้วยกิริยา วาจา และหัวใจ

————

(ตามคำขอของ Jasmiine Montra)

4-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย