ทัศนียภาพ (บาลีวันละคำ 661)
ทัศนียภาพ
(บาลีไทย)
อ่านว่า ทัด-สะ-นี-ยะ-พาบ
ประกอบด้วย ทัศนีย + ภาพ
“ทัศนีย” บาลีเป็น “ทสฺสนีย” (ทัด-สะ-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก ทสฺสน + อีย ปัจจัย
“ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) แปลว่า การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)
“อีย” (อี-ยะ) เป็นปัจจัย มีความหมายว่า “เป็นที่ตั้งแห่ง-” หรือ “คู่ควรแก่-”
ทสฺสน + อีย = ทสฺสนีย แปลว่า “เป็นที่ตั้งแห่งการดู” หรือ “คู่ควรแก่การมอง” หมายถึง ดูงาม, สวย, น่าดู (fair to behold, beautiful, good-looking)
“ภาพ” ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –
(1) ความ, ความมี, ความเป็น, มักใช้ประกอบเป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น มรณภาพ ว่า ความตาย
(2) รูปที่ปรากฏเห็นหรือนึกเห็น เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพในฝัน, สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูปหรือสิ่งที่ถ่ายแบบไว้ เช่น ภาพสีน้ำมัน ภาพถ่าย
ความหมายที่ (1) เป็นความหมายตามบาลี ส่วนความหมายที่ (2) เป็นความหมายตามภาษาไทย
: ทสฺสนีย + ภาพ = ทสฺสนียภาพ
: ทสฺสนีย เขียนอิงสันสกฤตเป็น ทัศนีย
: ทสฺสนียภาพ > ทัศนียภาพ
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“ทัศนียภาพ : ภาพที่น่าดู, มักใช้หมายถึงภูมิประเทศที่สวยงาม”
“-ภาพ” ตามความหมายนี้ หมายถึง “(ภูมิประเทศ) ที่สายตามองเห็น” บาลีไม่ได้ใช้คำว่า “ภาว–ภาพ” แต่ใช้คำว่า
– จกฺขุปถ (จัก-ขุ-ปะ-ถะ) = ทางแห่งจักษุ หรือที่คำเก่าว่า “คลองจักษุ”
– ทสฺสนปถ (ทัด-สะ-นะ-ปะ-ถะ) = ทางแห่งการมองเห็น, แนวแห่งสายตา
– ทสฺสนูปจาร (ทัด-สะ-นู-ปะ-จา-ระ) = ขอบเขตที่สายตาจะพึงมองเห็นได้
“ทัศนียภาพ” ตรงกับคำอังกฤษว่า scenery
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล scenery เป็นบาลีว่า “เทสวิลาส” (เท-สะ-วิ-ลา-สะ) แปลว่า “ความงามแห่งภูมิประเทศ”
: ไม่มีภาพดีๆ ให้ดู เป็นเพียงแค่โชคไม่ดี
: แต่การต้องดูภาพที่ไม่ดี เป็นความโชคร้าย
————–
(แรงบันดาลใจจากการเห็นภาพการลงมือสร้างโรงงานซึ่งจะบดบังทัศนียภาพของ มจร. ที่วังน้อย)
9-3-57