เครื่องบิน (บาลีวันละคำ 662)
เครื่องบิน
บาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“เครื่องบิน : อากาศยานชนิดหนึ่งซึ่งหนักกว่าอากาศ ลอยตัวอยู่ได้ด้วยการให้พลังงานกลแก่อากาศโดยรอบก่อให้เกิดแรงพยุงขึ้นโต้ตอบกับความโน้มถ่วงของโลกและใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อน”
อีกคำหนึ่งคือ “เรือบิน” พจน.42 บอกไว้ว่า หมายถึงเครื่องบิน แต่เป็นภาษาปาก
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า เครื่องบิน ภาษาอังกฤว่า flying machine, airplane
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่มีคำแปล flying machine และ airplane เป็นบาลี แต่มีคำว่า airship แปลเป็นบาลีว่า “โวฺยมยาน” (วฺโย-มะ-ยา-นะ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โวฺยมนฺ” (วฺโย-มัน) แปลว่า ฟ้า (sky)
บาลีไม่พบคำว่า “โวฺยม” คำว่า “โวฺยมยาน” ตามคำแปลในพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี จึงเป็นคำที่ยืมมาจากสันสกฤต
พจน.42 บอกไว้ว่า –
(1) โพยม (พะโยม) : ท้องฟ้า, อากาศ, โพยมัน หรือ โพยมาน ก็ใช้. (ส. โวฺยมนฺ)
(2) โพยมยาน : ยานที่แล่นไปในฟ้า
โปรดระวัง : โพยมัน และ โพยมาน ไม่ใช่อ่านว่า โพย- (เหมือนโพยหวย) แต่อ่านว่า พฺโย-
“โพยมยาน” ตรงกับ “โวฺยมยาน” ที่พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลมาจาก airship
air ก็คือ ท้องฟ้า, อากาศ = โวฺยม > โพยม
ship แปลว่า เรือ : airship = เรือในอากาศ ก็ตรงกับ “เรือบิน” ที่ พจน.42 บอกว่าหมายถึงเครื่องบิน แต่เป็นภาษาปาก
แต่ “เรือบิน” ก็แปลได้ตรงตัวกับ airship
สรุปว่า “เครื่องบิน” ตรงกับคำว่า “อากาสยาน – อากาศยาน” ที่เราคุ้นกันดี และคำว่า “โวฺยมยาน – โพยมยาน”
ในคัมภีร์มีเรื่องราวที่กล่าวถึงการใช้ไม้ประดิษฐ์เป็นยานที่บินได้เหมือนนก เรียกยานชนิดนั้นว่า “กฏฺฐวาหน” (กัด-ถะ-วา-หะ-นะ) เรียกเป็นคำหรูๆ ได้ว่า “กัฏฐพาหน” (กัด-ถะ-พา-หน) แปลว่า “พาหนะที่ทำด้วยไม้แห้ง”
พุทธภาษิต :
หํสา อาทิจฺจปเถ ยนฺติ
อากาเส ยนฺติ อิทฺธิยา
นิยฺยนฺติ ธีรา โลกมฺหา
เชตฺวา มารํ สวาหนํ.
(โลกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๓)
หงส์ย่อมบินไปในทางแห่งดวงอาทิตย์
ผู้มีฤทธิ์ย่อมสำแดงเดชไปในอากาศ
ธีรชนผู้ฉลาดชนะมารพร้อมทั้งไพร่พล
ย่อมดำเนินทางหลุดพ้นลุถึงพระนฤพาน
10-3-57