บาลีวันละคำ

อันตรธาน [1] (บาลีวันละคำ 660)

อันตรธาน [1]

อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-ทาน

พจน.42 บอกว่าอ่าน อัน-ตฺระ-ทาน (ตฺร ควบ) ก็ได้

ที่จริงไม่ควรอ่านเช่นนั้น เพราะ ตร ในบาลีอ่านเรียงพยางค์

บาลีเขียน “อนฺตรธาน” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-ทา-นะ

ประกอบด้วย อนฺตร + ธาน

อนฺตร” แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” คือ มีข้างหนึ่ง แล้วก็มีอีกข้างหนึ่ง จากข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งนี้แหละมีสิ่งหนึ่งผูกเอาไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อันตระ” หมายถึง ข้างใน, ในระหว่าง, ภายใน = ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง

ธาน” แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้” “ปิดกั้น

อนฺตร + ธาน = อนฺตรธาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทรงอยู่ในระหว่าง” (คือเข้ามาปิดกั้นไว้ทำให้มองไม่เห็น) หมายถึง การหายหรือสูญหายไป (disappearance), เครื่องปิดกั้น, ฝาปิด

ระวัง –ธาน หนู สะกด ไม่ใช่ เรือ

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

อันตรธาน : สูญหายไป, ลับไป”

ความหมายของคำว่า “หาย” :

1. อันตรธาน คำกริยาในบาลีเป็น “อนฺตรธายติ” (อัน-ตะ-ระ-ทา-ยะ-ติ) หมายถึง “หายตัวไปต่อหน้าต่อตา” อย่างที่เราพูดกันว่า “หายตัวได้” คือมองเห็นตัวอยู่ดีๆ ก็หายวับไปต่อหน้าต่อตา และไม่มีตัวอยู่ ณ ที่ตรงนั้นอีก

2. ในกรณีที่ตัวมีอยู่ ณ ที่ตรงนั้น แต่มองไม่เห็นด้วยสายตา ภาษาบาลีใช้คำว่า “อทิสฺสมาน-” (อะ-ทิด-สะ-มา-นะ-) แปลว่า “ไม่ปรากฏ” คือตัวมีอยู่ แต่มองไม่เห็น เช่นพวกเทวดาต่างๆ ที่มีคำเรียกว่า “อทิสสมานกาย

3. ในกรณีที่มีตัวปรากฏอยู่ และสามารถมองเห็นได้ แต่หาไม่เจอ เพราะไม่รู้จุดที่สิ่งนั้นอยู่ เช่นสิ่งของเคยมีอยู่ตรงนี้ แต่ถูกนำไปไว้ที่อื่น บาลีใช้คำว่า “น ปสฺสติ” (นะ ปัด-สะ-ติ) แปลว่า “เขาย่อมไม่เห็น” ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่ “อนฺตรธาน” หรือ “อทิสฺสมาน-” ในบาลี แต่ภาษาไทยก็นิยมพูดว่า “อันตรธาน” เช่น จอดรถไว้ เข้าไปซื้อของในตลาด พอกลับออกมา รถอันตรธานไปเสียแล้ว

: หายตัวได้ก็ไม่อัศจรรย์

: หายตัวไม่ได้ แต่ทำกิเลสให้หายไปจากตัวได้ นี่ต่างหากที่ควรอัศจรรย์

8-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย