บาลีวันละคำ

จิตกาธาน (บาลีวันละคำ 663)

จิตกาธาน

อ่านว่า จิด-ตะ-กา-ทาน

บาลีอ่านว่า จิ-ตะ-กา-ทา-นะ

ประกอบด้วย จิตก + อาธาน

จิตก” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ก่อกองฟืน

รากศัพท์คือ จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ปัจจัย + สกรรถ

(“สกรรถ” อ่านว่า สะ-กัด เรียกคำที่เพิ่มเข้าข้างหลังคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว มีความหมายคงเดิม)

: จิ + + = จิตก

ศัพท์นี้เป็น จิตกา และ จิตา (อิตถีลิงค์) ได้อีกด้วย

มีกระบวนการสร้างความหมาย (= ตั้งวิเคราะห์) ว่า –

จิยฺยเต ยตฺถ โส จิตโก แปลว่า – ฟืน อันเขาย่อมสะสม (ก่อกองขึ้น) ในที่ใด, ที่นั้น ชื่อว่า “จิตก” = ที่เป็นที่ก่อกองฟืน หมายถึง ที่เผาศพ (a heap, a funeral pile; a tumulus)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า จิติ, จิตี, จิตา แปลว่า เชิงตะกอน a funeral pile

อาธาน” แปลว่า การวางหรือตั้ง, การวางลงหรือตั้งขึ้น (putting up, putting down, placing, laying), เครื่องรองรับ (receptacle)

จิตก + อาธาน = จิตกาธาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่รองรับกองฟืน”

ในคัมภีร์ ไม่พบคำที่ควบกันเป็น “จิตกาธาน” พบแต่ จิตก หรือ จิตกา

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

(1) จิตกาธาน : เชิงตะกอน (สำหรับเจ้านาย), (ราชาศัพท์) พระจิตกาธาน. (ป., ส. จิตก + อาธาน)

(2) เชิงตะกอน : ฐานที่ทําขึ้นสําหรับเผาศพ

ระวังอย่าเขียนผิด : จิตกาธานธาน หนู สะกด ไม่ใช่ –ธาร ร เรือ

ปริศนาธรรม –

อะไรเอ่ย : เพื่อนของเรา 3 คน, เมื่อเราตาย –

1. คนที่เรารักมากที่สุด ไปอยู่กับคนอื่นทันที

2. คนที่เรารักพอประมาณ ไปส่งเราแค่เชิงตะกอน

3. คนที่เราไม่รักเลย ไปกับเราด้วย

——————–

“Citipati เท่าที่เจอเขาแปลว่า ‘Lord of the Funeral Pyre’

เจ้าแห่งที่ปลงศพ – เจ้าแห่งเมรุ – เจ้าแห่งโลกหลังความตาย

และดูเหมือนจะเป็นเทพของฝั่งตันตระ-วัชรยาน

– pati ข้างหลังน่าจะตรงกับ ‘บดี’, แต่ Citi ข้างหน้าไม่รู้จะเดาอย่างไร”

(คำปรารภของ Piyawat Khun ตั้งแต่ 15 มกราคม 2556-ต้นปีที่แล้ว)

11-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย