เจรจา (บาลีวันละคำ 664)
เจรจา
พจน.42 บอกไว้ว่า –
1. อ่านว่า เจน-ระ-จา
2. เป็นคำกริยา หมายความว่า พูด, พูดจากัน, พูดจากันเป็นทางการ
3. คำสันสกฤตว่า จรฺจา
ดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน พบคำที่น่าจะเกี่ยวข้องกันดังนี้ –
(1) จรฺจ, จรฺจฺจ (ธาตุ) : พูดหรือกล่าว; มฤษา, นินทา, ครหา; ถาม; ศึกษา, เล่าเรียน; to speak or say; to abuse, to reprove, to censure or condemn; to injure or hurt; to inquire; to read over or trough, to peruse carefully, to study.
(2) จรฺจา, จรฺจิกา (คำนาม) : วิจาร, วิจารณา; การไต่ถามหรือสืบสวน; reflection, contemplation, consideration; inquiry or investigation.
(3) จรฺจฺจ (ธาตุ) : พูด; บอก, กล่าว; เล่าเรียน; ครหานินทา; to speak; to tell, to say; to study; to reprove or censure.
พจน.42 มีคำที่เกี่ยวข้องดังนี้ –
(1) จำนรรจ์, จำนรรจา (จำนัน, จำนันจา) : (คำที่ใช้ในบทกลอน) เจรจา, พูด, กล่าว.
(2) จรรจา (จันจา) : (คำที่ใช้ในบทกลอน) พูด, กล่าว, เช่น อันว่าคนจรรจาลิ้นล่าย กล่าวสองฝ่ายให้ดูดี. (ม. คำหลวงกุมาร)
ในภาษาไทย เราคงออกเสียง “จรฺจา” ว่า จัน-จา มีคำว่า “จรรจา” เป็นพยานอยู่
และยังมีคำว่า “จำนรรจ์” (จำ-นัน) และ “จำนรรจา” (จำ-นัน-จา) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าแผลงมาจาก จรฺจา คือ “จัน” แผลงเป็น “จำนัน”
“จ” แผลงเป็น “จ-น” มีแนวเทียบในภาษาไทยหลายคำ เช่น –
จง > จำนง
จำ > จำนำ
จ่าย > จำหน่าย
เจียร > จำเนียร
แจก > จำแนก
จรฺจา > จรรจา > จำนรรจ์ > จำนรรจา > เจรจา
ทุกคำล้วนมีความหมายว่า พูด, กล่าว
สรุปว่า
(1) เจรจา แผลงมาจาก จรฺจา ในสันสกฤต และยังแผลงเป็น จรรจา จำนรรจ์ จำนรรจา อีกด้วย
(2) “จรฺจา” ที่เป็นรากเดิมของ “เจรจา” มีความหมายว่าพูดกัน หรือถกเถียงกัน
บาลีมี “จจฺจ” (จัด-จะ) ธาตุ ไขความว่า “ปริภาสเน” พูดตามสำนวนไวยากรณ์บาลีว่า “เป็นไปในอรรถว่า ด่า, ต่อว่า” ซึ่งน่าจะตรงหรือใกล้เคียงกับ “จรฺจฺจ” ของสันสกฤตมากที่สุด (ดูคำที่มาจาก สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ข้อ (1) และ (3) ข้างต้น)
: สัตว์เดรัจฉาน ตัดสินปัญหาด้วยการกัดกัน
: มนุษย์สามัญ ตัดสินด้วยกำลังกายกำลังอาวุธ
: มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ ตัดสินด้วยการเจรจา
: มนุษย์ที่มีปัญญา ตัดสินปัญหาด้วยคุณธรรม
———————-
(รับฝากมาจากพระคุณท่าน อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ)
12-3-57