บาลีวันละคำ

นรก-สวรรค์ (บาลีวันละคำ 665)

นรก-สวรรค์

ภาษาไทยอ่านว่า นะ-รก / สะ-หฺวัน

บาลีเป็น “นรก” อ่านว่า นะ-ระ-กะ

และ “สคฺค” อ่านว่า สัก-คะ

(1) นรก)

นรก” แปลตามศัพท์ว่า “ภูมิที่นำคนบาปไป” รากศัพท์ประกอบด้วย –

1. นี (ธาตุ = นำไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง อี (ที่ นี) เป็น , แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลง อาคม

: นี > + = นร + ณฺวุ > อก = นรก

2. นร (ธาตุ = นำไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก

: นร + ณฺวุ > อก = นรก

นรก” นอกจากหมายถึง ภูมินรก ดังที่เราเข้าใจกันแล้ว ยังแปลว่า หลุมลึก หรือ เหว อีกด้วย

ฝรั่งแปล “นรก” ว่า a pit และไขความอีกนัยหนึ่งว่า a name for Niraya, purgatory; a place of torment for the deceased (ชื่อสำหรับเรียกแดนนิรยะ คือนรก; สถานที่ทรมานผู้ที่ตายไปแล้ว)

พจน.42 บอกไว้ว่า –

นรก : แดนหรือภูมิที่เชื่อกันว่าผู้ทําบาปจะต้องไปเกิดและถูกลงโทษ, โดยปริยายหมายถึงแดนที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน”

(2) สวรรค์

สคฺค” (สันสกฤตเป็น สฺวรฺค) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ดำรงอยู่ยืนนานและสวยงาม” “แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ” “แดนที่มีอารมณ์อันเลิศ” (คือได้พบเห็นสัมผัสแต่สิ่งที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ)

รากศัพท์ประกอบด้วย สุ (= ดี, งาม) + อคฺค (= สถานที่อันเป็นไปยั่งยืน, สถานที่มีอารมณ์อันเลิศ)

: สุ > + อคฺค = สคฺค

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวรรค์” (สะ-หฺวัน) พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า “โลกของเทวดา, เมืองฟ้า

ฝรั่งแปล “สคฺคสวรรค์” ว่า heaven, the next world แล้วขยายความว่า popularly conceived as a place of happiness and long life (ตามมโนภาพทั่วๆ ไป เข้าใจกันว่าเป็นสถานที่มีควมสุขและมีอายุยืน)

ตามปกติคำว่า “สคฺค” หมายถึง สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา, ดาวดึงส์, ยามา, ดุสิต, นิมมานรดี, ปรนิมมิตวสวัตดี

(3) เพิ่มเติม

(1) คำว่า “นรก” ที่เราเรียกกันนั้น ในคัมภีร์ใช้ศัพท์ว่า “นิรย” (นิ-ระ-ยะ) เป็นพื้น จะกล่าวว่าไทยเราแปล “นิรย” ว่า “นรก” ก็ได้

นรก” ปรากฏในพระไตรปิฎก 3 ครั้ง, ในอรรถกถา 18 ครั้ง

นิรย” ปรากฏในพระไตรปิฎก 476 ครั้ง, ในอรรถกถา 240 ครั้ง

หมายเหตุ : สำรวจนับเบื้องต้น และนับเฉพาะที่มีรูปศัพท์ว่า “นรกํ” และ “นิรยํ” โดดๆ เท่านั้น ไม่รวมที่ประกอบด้วยวิภัตติอื่นและที่สนธิหรือสมาสอยู่กับศัพท์อื่น

(2) “นิรย” มีความหมายว่า “ภพที่ปราศจากผลที่น่าปรารถนา” “ภพที่มีการไปที่น่าติเตียน” “ภพที่ปราศจากความเจริญ” “ภพที่ไม่มีความสุข” ความหมายเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นความหมายของ “นรก” ด้วยเช่นกัน

(3) นรกที่จัดเป็น “มหานรก” มี 8 ขุม มีชื่อแสดงความหมายตามลักษณะการทรมาน ดังนี้ –

๑. สัญชีวะ = ตายแล้วกลับเป็น เพื่อรับโทษไม่รู้จบ

๒. กาฬสุตตะ = ตีเส้นสังหารไปบนร่างกาย

๓. สังฆาตะ = ถูกภูเขาเหล็กบดขยี้บี้แบน

๔. โรรุวะ (ธูมโรรุวะ) = ร้องโหยหวนสำลักควันพิษ

๕. มหาโรรุวะ (ชาลโรรุวะ) = ร้องโหยหวนเพราะถูกไฟนรกลวก

๖. ตาปนะ = เร่าร้อนเพราะถูกหลาวไฟเสียบ

๗. ปตาปนะ = เร่าร้อนเกินจะเปรียบเพราะถูกรุมเสียบทั่วร่าง

๘. อวีจิ (อเวจี) = ไม่มีที่ว่างเพราะเต็มไปด้วย 3 สิ่ง คือ (1) ความร้อนชนิดหาเย็นไม่เจอ (2) ความแน่นของประชากรสัตว์นรกไม่มีช่องว่างแม้เท่าปลายเข็ม (3) ความทุกข์ท่วมท้นไม่มีแม้สักขณะที่จะรู้สึกโล่งใจ

มหานรกแต่ละขุมมีนรกบริวารที่ถูกทรมานพิสดารพันลึกอีกขุมละ 16 ขุม

ที่มา : คัมภีร์จักกวาฬทีปนี

(4) ปัญหาคาใจของมนุษย์คือ นรก-สวรรค์มีจริงหรือไม่

ขอเสนอแนวคิดดังนี้ –

๑- นรก-สวรรค์ เป็นความจริงที่ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อ คือไม่ใช่ว่า ใครเชื่อว่ามี จึงมีสำหรับผู้นั้น ใครไม่เชื่อว่ามี ก็ไม่มีสำหรับผู้นั้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเห็นของเราให้ตรงกับความจริง ใครทำความเห็นให้ตรงกับความจริงได้ ก็จะเห็นได้ด้วยตัวเองว่ามีหรือไม่มี

๒- การที่ตนเองยังพิสูจน์ไม่ได้ (หรือจะอ้างว่า “นักสอนศาสนายังพิสูจน์ให้ข้าพเจ้าเชื่อไม่ได้” ก็ตามที) ไม่ควรเป็นเหตุให้มนุษย์ทำชั่วมากขึ้น (เพราะไม่มีนรกจะให้ตก) หรือทำดีน้อยลง (เพราะไม่มีสวรรค์จะให้ขึ้น) นรก-สวรรค์ ไม่ใช่ปลายทางของชีวิต

๓- การครองชีวิตให้บริสุทธิ์สะอาดในปัจจุบันสำคัญกว่า ควรเป็นห่วงสุข-ทุกข์ของตนเองและผู้อื่นอันเกิดจากกระทำของเราในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ให้มากกว่าสุข-ทุกข์ที่จะได้รับหลังจากตายไปแล้ว

๔- ถ้ายังคิดอะไรไม่ออก ก็ขอให้คิดถึงคำไทยที่ว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” ไปพลางก่อนก็ได้

ทำพูดคิดอะไรแล้วสว่างไสวในหัวอก นั่นคือสวรรค์

ทำพูดคิดอะไรแล้วหม่นหมองขุ่นมัวในหัวใจ นั่นคือนรก

——————–

ชาติมนุษย์เป็นชุมทางที่ประเสริฐสุดแล้ว :

ไปนรกก็ได้

ไปสวรรค์ก็ได้

ไปให้ถึงความพ้นทุกข์เด็ดขาดก็ได้

: เลือกเอาสิ

——————–

(ถวายการวัดของพระคุณท่าน พระมหารุ่งอรุณ อรุณโชติ)

13-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย