บาลีวันละคำ

แพศยา (บาลีวันละคำ 666)

แพศยา

อ่านว่า แพด-สะ-หฺยา

บาลีเป็น “เวสิยา” อ่านว่า เว-สิ-ยา

สันสกฤตเป็น “เวศฺยา” เราเขียนอิงสันสกฤต แต่แผลง – เป็น

เวสิยา” แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้งดงามยิ่งด้วยอากัปกิริยา” “หญิงอันผู้มีอาชีพขายความงามต้องการ” “หญิงอันบุรุษแสวงหาเป็นพิเศษ

โปรดสังเกตว่า คำแปลทุกคำมีความหมายในทางดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวสิยา” ว่า a woman of low caste, a harlot, prostitute (สตรีวรรณะต่ำ, หญิงแพศยา, หญิงโสเภณี)

พจน.42 บอกไว้ว่า –

แพศยา : หญิงหาเงินในทางประเวณี, หญิงถ่อย, หญิงสําส่อน”

ในภาษาไทย “แพศยา” มีนัยเป็นคำด่าสตรีอย่างดูถูก

ในบาลีมีคำเรียก “หญิงบริการทางเพศ” หลายคำ เช่น –

(1) คณิกา (คะ-นิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุรุษนับเอาไป” (คือตีราคาพาไป) ฝรั่งแปลว่า one who belongs to the crowd, a harlot, a courtesan (สตรีผู้เป็นของประชาชน, หญิงแพศยา, หญิงงามเมือง)

(2) นครโสภินี (นะ-คะ-ระ-โส-พิ-นี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังเมืองให้งาม” ฝรั่งแปลว่า the city belle, a town courtesan (หญิงงามเมือง, หญิงนครโสเภณี)

(3) วณฺณทาสี (วัน-นะ-ทา-สี) แปลตามศัพท์ว่า “หญิงรับใช้ผู้พร้อมด้วยความงาม” ฝรั่งแปลว่า slave of beauty, courtesan, prostitute (นางทาสแห่งความงาม, หญิงงามเมือง, หญิงโสเภณี)

(4) รูปูปชีวินี (รู-ปู-ปะ-ชี-วิ-นี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เลี้ยงชีพด้วยรูปร่าง” ฝรั่งแปลว่า a woman earning her living by her beauty (สตรีผู้ดำรงชีพอยู่ด้วยความงาม)

ในภาษาไทยมีคำที่ค่อนข้างเก่าเรียกหญิงบริการทางเพศว่า “ช็อกการี

อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ อธิบาย (อ้างศาสตราจารย์ ดร.บรรจบ พันธุเมธา) ว่า ในภาษาฮินดีมีคำว่า “chokra” แปลว่า “เด็กชาย” และ “chokri” แปลว่า “เด็กหญิง”

นัยว่าสมัยหนึ่งชาวอินเดียในไทยบางส่วนประกอบอาชีพทางจัดหาหญิงบริการ และโฆษณาโดยใช้คำว่า “chokri” เพื่อแสดงว่าหญิงบริการในสำนักของตนล้วนแต่ยังเด็กๆ รุ่นๆ คงจะตรงกับว่า “เอ๊าะ ๆ” หรือ “อีหนู” หรือที่เรียกอย่างที่เข้าใจกันว่า “เด็ก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กะหรี่ (ภาษาปาก) : โสเภณี กร่อนมาจากคำว่า ช็อกการี ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษาฮินดี chokri ว่า เด็กผู้หญิง”

แต่คำว่า “ช็อกการี” ยังไม่มีเก็บไว้ใน พจน.54

ทำชั่ว : คือทุจริต

อาชีพไม่ชั่ว : ถ้าไม่ได้ทำชั่วเป็นอาชีพ

14-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย