บาลีวันละคำ

โคจร-อโคจร (บาลีวันละคำ 667)

โคจร-อโคจร

อ่านว่า โค-จอน / อะ-โค-จอน

บาลีอ่านว่า โค-จะ-ระ / อะ-โค-จะ-ระ

(1) โคจร

โคจร” รากศัพท์ประกอบด้วย โค (= อินทรีย์ (เครื่องรับอารมณ์), โค, แผ่นดิน, ดวงอาทิตย์) + จร (ธาตุ = เที่ยวไป) แปลตามศัพท์ว่า –

1. “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์” คือรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น อันรวมเรียกว่า “อารมณ์”

2. “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งโค” ความหมายเดิมคือท้องทุ่งสำหรับต้อนโคไปหากิน แล้วขยายไปเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ทั่วไป และเป็นสำนวนหมายถึง “ออกไปเที่ยวหากิน” (มักใช้กับสัตว์)

3. “การท่องเที่ยวไปบนแผ่นดิน” : โค = แผ่นดิน จร = ท่องเที่ยวไป หมายถึง การเดินทางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ

ความหมายนี้บางตำราว่าหมายถึง “การเดินทางของดวงอาทิตย์” : โค = ดวงอาทิตย์

4. “ที่เหมือนกับที่ท่องเที่ยวไปแห่งโค” คือสถานที่เที่ยวบิณฑบาตของภิกษุ (เปรียบเหมือนสถานที่ซึ่งโคไปเที่ยวหากิน)

สรุปว่า “โคจร” หมายถึง อารมณ์, อาหาร = การหากิน, การเดินทาง และ สถานที่อันควรไป

ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “โคจร” ไว้ว่า –

(1) (คำนาม) อารมณ์ เช่น มีพุทธานุสติเป็นโคจร

(2) (คำกริยา) เดินไปตามวิถี เช่น ดวงอาทิตย์โคจร ดวงจันทร์โคจรรอบโลก

(3) (คำกริยา) เที่ยว เช่น โคจรมาพบกัน

(4) คํานี้โดยมากใช้แก่ดาวนพเคราะห์, เมื่อว่าเฉพาะทางที่พระอาทิตย์โคจร มีจุดสุดอยู่ 6 แห่งที่อยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ คือ ครีษมายัน กับ เหมายัน คู่หนึ่ง, วสันตวิษุวัต กับ ศารทวิษุวัต คู่หนึ่ง, พสุสงกรานต์ 2 แห่ง คู่หนึ่ง. (ป., ส. โคจร ว่า การเที่ยวไปของดวงอาทิตย์)

(2) อโคจร

อโคจร” ประกอบด้วย > + โคจร = อโคจร หมายเฉพาะถึง บุคคลและสถานที่อันภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่ ในคัมภีร์ระบุไว้ 6 อย่าง คือ หญิงแพศยา หญิงหม้าย สาวเทื้อ ภิกษุณี บัณเฑาะก์ (กะเทย) และร้านสุรา

ในสภาพสังคมปัจจุบัน อโคจรของภิกษุสมณะ นอกจากที่ระบุไว้แล้ว ย่อมขึ้นอยู่กับเสียงตำหนิติเตียนของชาวบ้านด้วย เช่น ภิกษุเข้าไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ชาวบ้านติเตียนว่าไม่เหมาะสม ห้างสรรพสินค้าก็นับว่าเป็นอโคจรด้วย

โดยปริยาย “อโคจร” ยังหมายถึงบุคคลและสถานที่ซึ่งผู้อยู่ในสถานะบางอย่างไม่ควรจะเข้าไปหรือมีสัมพันธ์ด้วย เช่น

– บ่อนการพนันเป็นอโคจรสำหรับ สส.

– ผู้รับเหมาเป็นอโคจรของรัฐมนตรี

คำว่า “อโคจร” ยังไม่ได้เก็บไว้ใน พจน.54

: ที่ไหนแยกคนพาลกับบัณฑิตให้ต่างกันไม่ได้

: ที่นั่นไม่ควรอยู่ และไม่ควรไป

#บาลีวันละคำ (667)

15-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย