นิจศีล (บาลีวันละคำ 668)
นิจศีล
อ่านว่า นิด-จะ-สีน
บาลีเป็น “นิจฺจสีล” อ่านว่า นิด-จะ-สี-ละ
ประกอบด้วย นิจฺจ + สีล
“นิจฺจ” คำนี้สันสกฤตเป็น “นิตฺย” ภาษาไทยใช้ทั้งแบบบาลีและสันสกฤต คือ “นิจ” (ตัด จ ออกตัวหนึ่ง) และ “นิตย์” มีความหมายว่า เสมอไป, สมํ่าเสมอ, ต่อเนื่องกันไป, ถาวร (constant, continuous, permanent)
“สีล” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เครื่องผูกจิตไว้” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย” นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย
ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล”
นิจฺจ + สีล = นิจฺจสีล > นิจศีล
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –
“นิจศีล : ศีลที่พึงรักษาเป็นประจำ, ศีลประจำตัวของอุบาสกอุบาสิกา ได้แก่ ศีล 5”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิจฺจสีล” ว่า the uninterrupted observance of good conduct (การถือศีลหรือประพฤติโดยสม่ำเสมอไม่ขาด)
พจน.54 บอกความหมายของ “นิจศีล” ไว้ว่า –
1. (คำนาม) ศีลที่ควรรักษาเป็นนิจ ได้แก่ ศีล 5
2. (คำวิเศษณ์) เป็นปรกติเสมอไป, มักใช้ว่า เป็นนิจศีล
สรุปว่า การทำอะไรเป็นปรกติ ประจำ สม่ำเสมอ แม้ไม่เกี่ยวกับการรักษาศีล ภาษาไทยพูดว่า – ทำเป็นนิจศีล
ระวัง : เวลาพูด มักออกเสียง “ศีล” เป็น “สิน” เป็นเหตุให้บางคนสะกดคำนี้เป็น “นิจศิล” หรือ “นิจสิน”
โปรดทราบว่าคำที่ถูกคือ “นิจศีล” ศ ศาลา – สระ อี – ล ลิง
พุทธภาษิต :
อนิจฺจสีลํ ทุสฺสีลฺยํ
กึ ปณฺฑิจฺจํ กริสฺสติ.
คนชั่ว ไม่มีนิจศีล
ต่อให้ฉลาด ก็ไม่พ้นจากความพินาศไปได้
(พรหาฉัตตชาดก จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 645)
——————–
(ตอบคำถามของ ทันย่า วิลล่า)
16-3-57