ทรยศ (บาลีวันละคำ 672)
ทรยศ
(บาลีสันสกฤตแปลง)
อ่านว่า ทอ-ระ-ยด
ประกอบด้วย ทร + ยศ
“ทร” (ทอ-ระ-) พจน.54 บอกไว้ดังนี้ –
“ทร– : คําอุปสรรค แปลว่า ชั่ว เช่น ทรชน ทรลักษณ์, ยาก, ลําบาก, เช่น ทรกรรม, น้อย, ไม่มี, เช่น ทรพล. (บาลี. ทุ, ทุรฺ; สันสกฤต. ทุสฺ)”
“ยศ” เป็นรูปสันสกฤต บาลีเป็น “ยส” อ่านว่า ยะ-สะ (สันสกฤต ศ ศาลา, บาลี ส เสือ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา” “สิ่งที่ทำให้ไปได้ทุกแห่ง” “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” หมายถึง ความรุ่งเรือง, ชื่อเสียง, กิตติศัพท์, ความสำเร็จ, ตำแหน่งสูง (glory, fame, repute, success, high position)
ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “ยศ” ไว้ว่า –
(1) (คำนาม) ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ,
(2) ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป
(3) เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป
(4) เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล
(5) (คำวิเศษณ์) ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ
คำไทยเอา ทร (= ชั่วช้าเลวทราม) + ยศ เป็น “ทรยศ” น่าจะมีนัยว่า ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้มีตำแหน่งฐานะสูง แต่กลับประพฤติชั่ว ลักษณะที่ประพฤติชั่วก็มักจะเป็นการทำร้ายคนอื่น โดยเฉพาะคนที่แวดล้อมใกล้ชิด
“ทรยศ” ถ้าจะแปลตามความ ก็คือ “มียศแล้วยังประพฤติชั่ว”
ต่อมาความหมายนี้ขยายไปถึงคนทั่วไปแม้ไม่มี “ยศ” ใครทำร้ายหรือหักหลังคนใกล้ชิดกันเอง ก็เรียกว่า “ทรยศ” ไปด้วย
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ทรยศ : คิดร้ายต่อผู้มีอุปการะ, กบฏ”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า “ทรยศ” คำอังกฤษคือ to betray, to be a traitor, to be treacherous
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล betray, betrayal, betrayer เป็นบาลีหลายคำ (แต่ไม่มีคำว่า ทุ+ยส = ทรยศ) ขอยกมาให้พิจารณาเพื่อเทียบกับความหมายในภาษาไทย
(1) สตฺตุ หตฺเถ อปฺเปติ (สัตตุ หัตเถ อัปเปติ) (ประโยค) = ตกถึงมือศัตรู
(2) รหสฺสํ อาวีกโรติ (ระหัสสัง อาวีกะโรติ) (ประโยค) = เปิดเผยความลับ
(3) ทุพฺภติ (ทุพภะติ) (คำกริยา) = ประทุษร้าย, หักหลัง
(4) ทุพฺภน (ทุพภะนะ) (คำนาม) = การประทุษร้าย, การหักหลัง
(5) อมิตฺตหตฺถปาปน (อะมิตตะหัตถะปาปะนะ) (คำนาม) = ทำให้ตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู
(6) มิตฺตทฺทุ (มิตตัททุ) (คำนาม) = คนทรยศต่อเพื่อน
(7) วิสฺสาสฆาตี (วิสสาสะฆาตี) (คำนาม) = ทำร้ายคนใกล้ชิด
พุทธศาสนสุภาษิต :
ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย
นิสีเทยฺย สเยยฺย วา
น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย
มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก.
(อังกุรเปตวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๑๐๖ หน้า ๑๘๘)
อาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด
ไม่ควรหักก้านรานกิ่งต้นไม้นั้น
คนทรยศต่อมิตร – เลวจริงๆ
20-3-57