ไม้ยมก (บาลีวันละคำ 674)
ไม้ยมก
อ่านว่า ไม้-ยะ-มก
–ยมก บาลีอ่านว่า ยะ-มะ-กะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ไม้ : ชื่อเครื่องหมายกํากับตัวอักษร เพื่อบอกระดับเสียง เช่น ๋ เรียกว่า ไม้จัตวา, เพื่อบอกชนิดสระ เช่น ไ เรียกว่า ไม้มลาย, เพื่อให้อ่านซํ้า คือ ‘ๆ’ เรียกว่า ไม้ยมก, หรือเพื่อไม่ให้ออกเสียงอ่าน คือ ์ เรียกว่า ไม้ทัณฑฆาต.
(2) ไม้ยมก : เครื่องหมายรูปดังนี้ ‘ๆ’ สําหรับอ่านซํ้าความหรือซํ้าคําข้างท้าย 2 หน.
“ยมก” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เว้นจากเดี่ยว” หมายถึง สิ่งที่เป็นคู่
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แยกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง คู่, แฝด (double, twin) = สิ่งเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีรูปลักษณ์เหมือนกัน แต่มีจำนวนเป็น 2 และอยู่ในที่เดียวกัน เช่น ต้นไม้ชนิดเดียวกัน 2 ต้น
(2) ใช้เป็นคุณศัพท์/คำนาม หมายถึง คู่แฝด, เด็กฝาแฝด (a twin, twin child) = สิ่งเดียวกัน และมีรูปลักษณ์บางส่วนหรือส่วนมากเหมือนกัน
(3) ใช้เป็นคำนาม หมายถึง หนึ่งคู่, คู่หนึ่ง (a pair, couple) = สิ่งที่ถูกนำมาเข้าคู่กันด้วยเหตุผลบางอย่าง
เครื่องหมายไม้ยมกในภาษาไทยนั้น ก็คือเลข ๒ (สอง) ไทยนั่นเอง แต่แทนที่จะตวัดหางขึ้น กลับลากลงมาตรงๆ คนโบราณเขียนเลข ๒ ไทย ‘ๆ’ แบบนี้ (ดูของจริงได้จากสมุดไทยหรือเอกสารโบราณ)
สมมุติว่าเราพูดว่า “เร็วเร็ว” เมื่อเราเขียนคำนี้ เราก็ควรจะเขียนเป็นสองคำสองพยางค์ คือ “เร็ว เร็ว” แต่เราไม่ต้องการจะเขียนคำว่า “เร็ว” ซ้ำอีก เราก็เขียนเลข ๒ (‘ๆ’) หลังคำว่า “เร็ว” คือเขียนเป็น “เร็ว ‘ๆ’” ซึ่งถ้าอ่านตามตัวอักษร ก็ต้องอ่านว่า “เร็ว สอง”
เมื่อใช้ตัวเลขแทนอย่างนี้ ก็เป็นที่รู้กันหรือตกลงกันว่า ให้อ่านคำข้างหน้าตัวเลขนั้นซ้ำ 2 ครั้ง คือแทนที่จะอ่านว่า “เร็ว สอง” (ซึ่งหมายถึง “เร็ว” 2 ครั้ง) ก็ให้อ่านว่า “เร็ว เร็ว”
ดังนั้น เมื่อไปเห็นเลข ‘ๆ’ อยู่หลังคำใด เราจึงอ่านคำนั้นซ้ำเป็นครั้งที่สอง
การให้อ่านซ้ำอีกครั้งหนึ่งนี้ก็มิใช่เพียงแค่ซ้ำคำเดียว บางทีซ้ำหลายคำ คือซ้ำทั้งวลี หรือซ้ำทั้งประโยคก็มี
รูปเครื่องหมาย ‘ๆ’ – ไม้ยมก จึงมีที่มาด้วยประการฉะนี้
: ความดี ทำซ้ำเท่าไรก็ยังไม่มาก
: ความชั่ว ทำครั้งเดียวก็มากเกินไป
22-3-57