ธรรมสวนะ (บาลีวันละคำ 675)
ธรรมสวนะ
อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-วะ-นะ
เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺมสฺสวน” (ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ)
ประกอบด้วย ธมฺม + สวน
“ธมฺม” มาจากรากศัพท์ว่า ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม
“ธมฺม – ธรรม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
“ธรรม” คำง่ายๆ เหมือนหญ้าปากคอก แต่แปลทับศัพท์กันจนแทบจะไม่ได้นึกถึงความหมายที่แท้จริง
ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
“สวน” (สะ-วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) แผลง อุ (ที่ สุ) เป็น โอ (= โส) แล้วแผลง โอ เป็น อว (= สว) + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สุ > โส > สว + ยุ > อน = สวน แปลว่า “การฟัง”
ธมฺม + สวน (ซ้อน สฺ) = ธมฺมสฺสวน > ธรรมสวนะ แปลว่า การฟังธรรม ถ้าใช้เรียก “วัน” เป็น “วันธรรมสวนะ” แปลว่า วันฟังธรรม
มีบทอาราธนาธรรมวันอุโบสถตอนหนึ่งว่า –
จาตุทฺทสี ปณฺณรสี
ยา จ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี
กาลา พุทฺเธน ปญฺญตฺตา
สทฺธมฺมสฺสวนสฺสิเม.
แปลว่า –
วันเหล่านี้คือ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ และแปดค่ำแห่งปักษ์
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อการฟังพระสัทธรรม
สรุปว่า วันธรรมสวนะ ตามหลักนิยมในพระพุทธศาสนา มีเดือนละ 4 วัน คือ (1-2) วันขึ้นและแรม 8 ค่ำ (3) วันจันทร์เพ็ญ คือ ขึ้น 15 ค่ำ และ (4) วันจันทร์ดับ คือ แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม)
วันธรรมสวนะ คือวันที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “วันพระ” นั่นเอง
ข้อสังเกต :
๑ คำบาลีว่า “ธมฺมสฺสวน” มีใช้ดกดื่นในคัมภีร์ และในภาษาไทยคำว่า “ธรรมสวนะ” ก็มีพูดกันมาช้านาน แต่คำว่า “ธรรมสวนะ” ไม่เคยปรากฎในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ฉบับแรก คือฉบับ พ.ศ.2493 เป็นต้นมา
๒ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ จากฉบับ พ.ศ.2493 เป็นฉบับ พ.ศ.2525, ฉบับ พ.ศ.2542 และล่าสุดเป็นฉบับ พ.ศ.2554
๓ โดยเฉพาะฉบับ พ.ศ.2554 ราชบัณฑิตยสถานแถลงว่า ได้เพิ่มเติมคำต่างๆ เข้าไปอีกเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ปรากฏคำว่า “ธรรมสวนะ” อยู่นั่นเอง
๔ ที่นับว่าค่อนข้างประหลาดก็คือ ฉบับ พ.ศ.2542 มีคำว่า “ธัมมะ” เป็นคำตั้งอยู่คำหนึ่ง แต่ฉบับพ.ศ.2554 ได้เพิ่มลูกคำเข้ามาอีก 2 คำ คือคำว่า “ธัมมเทสนามัย” และ “ธัมมัสสวนมัย” รวมทั้งมีคำว่า “ธัมมัสสวนมัย” เป็นคำตั้งอีกต่างหากด้วย แต่ไม่มีคำว่า “ธัมมเทสนามัย” เป็นคำตั้ง
๕ จึงทำให้น่าสงสัยว่า ในเมื่อแยก “ธัมมัสสวนมัย” มาเป็นคำตั้งได้ ไฉนจึงไม่แยก “ธัมมเทสนามัย” มาเป็นคำตั้งด้วย หรือเมื่อไม่แยก “ธัมมเทสนามัย” ออกมาเป็นคำตั้ง ไฉนจึงแยก “ธัมมัสสวนมัย” ออกมาเป็นคำตั้งเล่า ในเมื่อทั้งสองคำนี้มีฐานะเป็นลูกคำเท่ากัน
๖ แต่ที่ประหลาดยิ่งไปกว่านี้ก็คือ เมื่อเพิ่ม “ธัมมัสสวนมัย” เข้ามาอีกได้ ไฉนจึงไม่มี “ธัมมัสสวนะ” ด้วย ในเมื่อจะมี “ธัมมัสสวนมัย” ก็ต้องผ่าน “ธัมมัสสวนะ” มาก่อน
๗ นอกจากนี้ เมื่อมี “ธัมมัสสวนมัย” ได้ ก็ควรมี “ธรรมสวนะ” ได้ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏทั้ง “ธัมมัสสวนะ” และ “ธรรมสวนะ”
๘ ในคำตั้ง “ธรรม-” นั้น มีลูกคำที่ขึ้นต้นด้วย ธรรม– เริ่มตั้งแต่ “ธรรมกถา” เรื่อยไปถึง “ธรรมิก, ธรรมิก-” (ซึ่ง “ธรรมสวนะ” จะต้องอยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้) นับได้ 67 คำ ก็ไม่มี “ธรรมสวนะ” รวมอยู่ด้วย (มีคำว่า “ธรรมสภา” แล้วต่อด้วย “ธรรมสังคีติ” คำว่า “ธรรมสวนะ” ถ้ามี ก็จะต้องอยู่ในลำดับต่อจาก “ธรรมสภา” แต่ก็ข้ามไป)
ข้อเสนอแนะ :
๑ อาจมีคำแก้แทนว่า คำที่ควรมีใน พจน.ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ไม่มีนั้น ไม่ใช่ “ธรรมสวนะ” คำเดียว ยังมีคำอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นจะให้ครบสมบูรณ์ทุกคำคงทำไม่ได้
คำแก้นี้ไม่เป็นเหตุผลที่จะทำให้ พจน.ฉบับราชบัณฑิตยสถานมีสิทธิ์หรือมีความชอบธรรมที่จะตกคำว่า “ธรรมสวนะ” ต่อไปได้เรื่อยๆ
๒ ผู้เขียน “บาลีวันละคำ” นี้จำได้แน่ว่า เคยเสนอไปทางกระดานสนทนาของราชบัณฑิตยสถาน ก่อนที่จะปรับปรุง พจน.ออกมาเป็นฉบับพ.ศ.2554 ว่า ขอให้เพิ่มคำว่า “ธรรมสวนะ” เข้าไปด้วย
เป็นที่เห็นได้ชัดว่า ราชบัณฑิตยสถานยังไม่มีกรรมวิธีที่ได้ผล (หรืออาจจะไม่มีนโยบายด้วยซ้ำไป) ในการที่จะรวบรวมและตรวจสอบคำที่ควรมีใน พจน. แต่ยังไม่มี ให้ละเอียดถี่ถ้วนและรัดกุม
๓ ราชบัณฑิตยสถานควรมีโครงการเก็บรวบรวม “คำที่ตกสำรวจ” (คือคำที่ควรมีใน พจน. แต่ยังไม่มี) กรรมวิธีในการเก็บรวบรวมและตรวจสอบนั้นควรทำในเชิงรุก หมายความว่าไม่ควรทำเพียงนั่งรอให้มีผู้แจ้งเข้ามา แต่ควรออกไปตระเวนสืบหาในที่ต่างๆ ด้วย (เท่าที่เห็น แม้มีผู้แจ้งเข้าไปแท้ๆ ก็ดูเหมือนจะไม่มองเอาเสียอีก)
๔ ราชบัณฑิตยสถานควรจัดทำ “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับเพิ่มเติม)” ออกมาเป็นระยะๆ อาจจะเป็นปีละ 1 เล่มก็ได้ เพื่อเก็บรวบรวมคำที่ตกหล่นจากฉบับจริง ด้วยวิธีเช่นนี้จะทำให้คำที่ตกสำรวจหมดไปได้ในที่สุด หรือถึงจะยังมีก็น้อยที่สุด ทั้งยังเป็นโอกาสที่จะได้เก็บคำที่เกิดใหม่ๆ นำไปกลั่นกรองเก็บใน พจน.ต่อไปอีกด้วย
ถ้า-ทั้งปวงที่เสนอแนะมานี้ราชบัณฑิตยสถานทำอยู่แล้ว ก็ควรมีคำอธิบายว่า มีเหตุผลอะไรจึงไม่เก็บคำว่า “ธรรมสวนะ” ไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ?
: ลืมคำว่า “ธรรมสวนะ” พอให้อภัย
: แต่ถ้าลืม “ธรรมสวนะ” ก็ไม่ปลอดภัย
23-3-57