บาลีวันละคำ

จำวัด (บาลีวันละคำ 677)

จำวัด

คำไทยที่มาไกลจากบาลี

ที่มาของคำ :

ข่าว-กวป.บุกป.ป.ช.รุมสกรัมพระอ่วมหนีตาย

คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 24-03-2557

มีข้อความตอนหนึ่งว่า –

…………

ขณะเดียวกันมีพระภิกษุสงฆ์ซึ่งกำลังเดินออกมาจากซอยนนทบุรี  48  ได้เดินผ่านมาและถูกกลุ่มผู้ชุมนุมหือเข้ามาปิดล้อมด่าทอพร้อมทั้งตระโกนว่า ไม่ใช่พระแต่เป็นพวกกปปส.นนท์  ก่อนที่พระรูปดังกล่าวจะถูกรุมทำร้ายจากกลุ่มผู้ชุมนุมจนต้องวิ่งหนีหลบเข้าไปในร้านขายไดนาโมที่อยู่ติดกันโดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไประงับเหตุ ทราบชื่อต่อมาคือพระปราชญ์  ศุภวิรุตม์ จำวัดอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์

………….

จำวัด” คืออะไร ?

คำว่า “จำวัด” เดิมน่าจะเขียนว่า “จำวัตร” ด้วยเหตุผลดังจะสันนิษฐานต่อไปนี้ –

ในภาษาไทยมีคำว่า “จำศีล

พจน.54 บอกไว้ว่า –

จำศีล (คำกริยา) : ถือศีล, รักษาศีล; โดยปริยายหมายถึงการที่สัตว์บางชนิดนอนนิ่งไม่ออกหาอาหารชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น กบจําศีล”

ศีล” บาลีเป็น “สีล” (สี-ละ) “วัตร” บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) (มีอีกรูปหนึ่งคือ “วต”)

ในคัมภีร์มีคำว่า “สีลวตฺต” ใช้อยู่ทั่วไป

สีล” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เครื่องผูกจิตไว้” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย” นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

วตฺต” และ “วต” (วะ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “กิจที่ดำเนินไป” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน

วตฺต” และ “วต” ในภาษาไทยใช้ว่า “วัตร” และแผลงเป็น “พรต” ก็มี

สีลวตฺต” ในภาษาไทยก็คือ “ศีล” และ “วัตร” หรือ “ศีลพรต” (สี-ละ-พฺรด)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

ศีลพรต : ศีลและวัตร, ศีลและพรต, ข้อที่จะต้องสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่า ศีล ข้อที่พึงถือปฏิบัติชื่อว่า วัตร, หลักความประพฤติทั่วไปอันจะต้องรักษาเป็นพื้นฐานเสมอกัน ชื่อว่า ศีล ข้อปฏิบัติพิเศษเพื่อฝึกฝนตนให้ยิ่งขึ้นไป ชื่อว่า วัตร”

จำศีล” กับ “จำวัตร” จึงเป็นคำที่พูดคู่กัน จำศีล-จำวัตร เป็นกิริยาที่สำรวมจิตบำเพ็ญภาวนานิ่งๆ

เมื่อเห็นพระนอนหลับ เราจึงเอาคำว่า “จำวัตร” มาใช้เรียกเป็นทำนองให้เกียรติหรือถวายความเคารพ คือให้เห็นเป็นว่ากิริยาที่ท่านนอนหลับนั้นที่จริงท่านกำลัง “จำวัตร” คือปฏิบัติจิตภาวนาอยู่

คำที่เป็นแนวเทียบ ก็อย่างเช่น เจ้านายสิ้นพระชนม์ เรามีคำใช้ว่า “สวรรคต” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ไปสวรรค์” ข้อเท็จจริงท่านจะไปสวรรค์หรือไปภพภูมิไหนเราไม่ทราบ แต่เราถวายพระเกียรติให้เห็นว่ากิริยาที่ท่านสิ้นพระชนม์นั้นเป็นการไปสวรรค์

เสียงคำว่า “จำวัตร” เมื่อเขียนแบบคนไม่รูู้ศัพท์บาลี ก็คงจะเขียนตามเสียง เป็น “จำวัด” คือเขียนผิด ทำนองเดียวกับ “นิจศีล” เขียนเป็น “นิจสิน” แต่เมื่อเขียนแบบนี้กันมาก ก็กลายเป็นถูกไป

พจน.54 บอกไว้ว่า –

จำวัด (คำกริยา) : นอนหลับ (ใช้แก่ภิกษุสามเณร)”

ถ้อยคำในข่าวที่ว่า “…พระปราชญ์   จำวัดอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์” จึงเป็นการใช้คำผิดความหมาย ด้วยความเข้าใจผิด

จำวัด” ไม่ได้แปลว่า อยู่ประจำที่วัด แต่หมายถึง นอนหลับ (หรือแม้จะไม่หลับก็ตาม)

ถ้าไม่ใช่ “จำวัด” แล้วจะใช้คำว่าอะไร ?

ภาษาเป็นสิ่งสมมุติอย่างหนึ่ง

: ถ้าสมมุติด้วยปัญญา ก็งาม

: แต่ถ้าสมมุติด้วยความเขลา ก็ทราม

25-3-57

ต้นฉบับ