บาลีวันละคำ

จำพรรษา (บาลีวันละคำ 678)

จำพรรษา

(อนุสนธิมาจากคำว่า “จำวัด”)

ปัญหามีอยู่ว่า :

การที่พระสงฆ์อยู่ประจำ ณ วัด หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ทำนองเดียวกับที่ชาวบ้านอยู่ประจำ ณ ถิ่นฐานบ้านเรือนของตนนั้น ใช้คำเรียกว่าอะไร

คนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะสื่อมวลชน เข้าใจว่า ใช้คำว่า “จำวัด

ในคำว่า “จำวัด” บาลีวันละคำ (677) เมื่อ 25-3-57 ได้อธิบายว่า ใช้คำว่า “จำวัด” ไม่ถูก เพราะ “จำวัด” หมายถึงนอนหลับ

และทิ้งคำถามไว้ว่า ถ้าไม่ใช่ “จำวัด” แล้วจะใช้คำว่าอะไร ?

มีอีกคำหนึ่งที่ใช้ในเรื่องนี้ คือคำว่า “จำพรรษา

จำ” เป็นคำไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

(1) จำ ๑ (คำกริยา) : กําหนดไว้ในใจ, ระลึกได้, เช่น จําหน้าได้.

(2) จำ ๒ (คำกริยา) : ลงโทษด้วยวิธีเอาโซ่ตรวนล่ามไว้ เช่น จําโซ่ จําตรวน, ลงโทษด้วยวิธีขัง เช่น จําคุก.

(3) จำ ๓ (คำกริยา) : อาการที่ต้องฝืนใจทํา เช่น จำใจจากแม่เปลื้อง ปลิดอก อรเอย. (นิ. นรินทร์).

จำ” ในคำว่า “จำพรรษา” นี้มีความหมายตาม จำ ๑ และ จำ ๒ รวมกันโดยปริยาย

พรรษา” บาลีเป็น “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ สันสกฤตเป็น “วรฺษ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรษา” อ่านว่า พัน-สา

วสฺสพรรษา” แปลตามศัพท์ว่า

1 “น้ำที่หลั่งรดลงมา” = ฝน

2 “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” = ฤดูฝน

3 “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน” = ปี

วสฺส -วรฺษ” ไทยเราน่าจะใช้เป็น “พรรษ” (พัด) แต่ที่เป็น “พรรษา” อาจเป็นเพราะ –

1 ในบาลีมักใช้ในรูปพหูพจน์ คือเป็น “วสฺสา” (สัน.วรฺษา) เราจึงใช้ตามที่คุ้นเป็น “พรรษา

2 คำที่หมายถึงฤดูฝนมีอีกคำหนึ่ง คือ “วสฺสาน” (วัด-สา-นะ) คำนี้อาจกร่อนเป็น “วสฺสา-” เราก็เลยใช้เป็น “พรรษา

พจน.54 บอกไว้ว่า –

พรรษา : ช่วงระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษา จําพรรษา; ปี เช่น บวช 3 พรรษา, (ราชาศัพท์) มีพระชนมายุ 25 พรรษา”

จำ + พรรษา = จำพรรษา พจน.54 บอกไว้ว่า –

จำพรรษา (คำกริยา) : อยู่ประจําที่วัด 3 เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์)”

จำพรรษา” ตามคำนิยามของ พจน.54 ทำให้เกิดคำถามซ้อนขึ้นมาว่า ถ้าอยู่ประจำที่วัดในช่วงเวลาอื่นนอกจาก 3 เดือนในฤดูฝน จะเรียกว่าอะไร ใช้คำว่า “จำพรรษา” ได้หรือไม่

ข้ออภิปราย :

1 ในระยะแรกแห่งพุทธกาล พระสงฆ์ยังไม่มีการจำพรรษา ภายหลังจึงมีพระพุทธานุญาตให้อยู่ประจำที่เป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน และเราเรียกกันว่า “จำพรรษา

2 ในสมัยพุทธกาล แม้จะมีผู้สร้างเสนาสนะถวายเป็น “อาราม” ( = วัด) ในพระพุทธศาสนาแล้ว แต่พระสงฆ์ก็ไม่ได้อยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นการถาวร ดังจะพูดเทียบในสมัยนี้ว่า พระสารีบุตรวัดเวฬุวัน พระอานนท์วัดเชตวัน ทั้งนี้เพราะเวลาปกติก็จาริกไปตามที่ต่างๆ ที่เป็นสัปปายะแก่การปฏิบัติธรรม หรือเพื่อการประกาศธรรม ครั้นถึงฤดูฝนจึงพักประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งตามพระพุทธานุญาต เมื่อออกพรรษาแล้วก็จาริกต่อไปอีก (พระสงฆ์ไทยยังได้คติเช่นนี้ติดมา กล่าวคือสมัยก่อนเมื่อออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์สามเณรส่วนหนึ่งจะนิยมจาริกไปตามป่าเขาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “ออกธุดงค์” หรือ “เดินธุดงค์”)

3 กาลต่อมา พระสงฆ์มีกิจที่จะต้องอยู่ประจำที่นอกเวลา ๓ เดือนในฤดูฝนมากขึ้น (เช่นต้องดูแลเสนาสนะเป็นต้น) แม้ออกพรรษาแล้วก็ยังคงพักอยู่ ณ สถานที่จำพรรษานั้นต่อไปอีกเป็นเวลานาน บางทีจนถึงรอบเข้าพรรษาใหม่ต้องอยู่จำพรรษาที่เดิมต่อไปอีก ครั้นนานเข้าก็กลายเป็นอยู่ประจำไปในที่สุด

4 ปัจจุบันในประเทศไทยมีระเบียบว่า พระภิกษุสามเณรต้องมีสังกัด เป็นนัยว่าต้องมีสำนักที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เท่ากับว่าแม้จะไม่ใช่ช่วงเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ก็ต้องมีที่อยู่ประจำ

5 จะเห็นได้ว่า การอยู่ประจำที่นั้นมีมูลมาจาก “จำพรรษา” ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ 3 เดือนในฤดูฝน หรือในช่วงเวลาอื่น ก็ควรจะเรียกว่า “จำพรรษา” ได้ทั้งสิ้น

ถ้อยคำในข่าวที่ว่า “…พระปราชญ์   จำวัดอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์” จึงควรใช้ว่า

“…พระปราชญ์   จำพรรษาอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์”

ข้อเสนอแนะ :

ควรปรับปรุงคำนิยาม “จำพรรษา” ใน พจน.54 ใหม่ ให้มีความหมายรวมถึงการพำนักอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งด้วย เช่น –

จำพรรษา ก. อยู่ประจําที่วัด 3 เดือนในฤดูฝน, พำนักอยู่ประจำในสังกัดวัดใดวัดหนึ่ง (ใช้แก่พระสงฆ์)”

: แม้ไม่ใช่ 3 เดือนในฤดูฝน ก็ทำความดีได้

26-3-57

ต้นฉบับ