บาลีวันละคำ

ยมกปาฏิหาริย์ (บาลีวันละคำ 679)

ยมกปาฏิหาริย์

อ่านว่า ยะ-มก-กะ-ปา-ติ-หาน

บาลีเป็น “ยมกปาฏิหาริย

อ่านว่า ยะ-มะ-กะ-ปา-ติ-หา-ริ-ยะ

ประกอบด้วย ยมก + ปาฏิหาริย

ยมก” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เว้นจากเดี่ยว” หมายถึง สิ่งที่เป็นคู่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แยกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง คู่, แฝด (double, twin) = สิ่งเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีรูปลักษณ์เหมือนกัน แต่มีจำนวนเป็น 2 และอยู่ในที่เดียวกัน เช่น ต้นไม้ชนิดเดียวกัน 2 ต้น

(2) ใช้เป็นคุณศัพท์/คำนาม หมายถึง คู่แฝด, เด็กฝาแฝด (a twin, twin child) = สิ่งเดียวกัน และมีรูปลักษณ์บางส่วนหรือส่วนมากเหมือนกัน

(3) ใช้เป็นคำนาม หมายถึง หนึ่งคู่, คู่หนึ่ง (a pair, couple) = สิ่งที่ถูกนำมาเข้าคู่กันด้วยเหตุผลบางอย่าง

ในที่นี้ “ยมก” มีความหมายตามข้อ (3) (ดูคำอธิบายต่อไป)

ปาฏิหาริย” (คำบาลีเป็น ปาฏิหีร, ปาฏิหาร, ปาฏิหาริก ก็มี) แปลตามศัพท์ว่า “พลังที่นำไปเสีย (คือกำจัดได้) ซึ่งปฏิปักษ์” “พลังที่ใช้กับปฏิปักษ์” “พลังอันผู้สำเร็จนำให้เป็นไปเป็นพิเศษ

ปาฏิหาริย ภาษาไทยเขียน ปาฏิหาริย์ (การันต์ที่ ) อ่านว่า ปา-ติ-หาน ไม่ใช่ ปา-ติ-หา-ริ

พจน.54 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) (คำนาม) สิ่งที่น่าอัศจรรย์, ความอัศจรรย์, มี 3 อย่าง คือ

1. อิทธิปาฏิหาริย์ = ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ หมายถึง การแสดงฤทธิ์ที่พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

2. อาเทสนาปาฏิหาริย์ = การดักใจเป็นอัศจรรย์ หมายถึง การดักใจทายใจคนได้อย่างน่าอัศจรรย์

3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ = การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์

(2) (ภาษาปาก) (คำกริยา) กระทำสิ่งที่ตามปรกติทำไม่ได้ เช่น ปาฏิหาริย์ขึ้นไปอยู่บนหลังคา

ปาฏิหาริย์ ในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ สิ่งที่น่าอัศจรรย์, เรื่องที่น่าอัศจรรย์, สิ่งที่ประหลาดเหลือ, ความมหัศจรรย์, ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด, การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์

ยมก + ปาฏิหาริย = ยมกปาฏิหาริย > ยมกปาฏิหาริย์ แปลว่า “ปาฏิหาริย์ที่ทำเป็นคู่

มีปัญหาว่า “ยมกคู่” ในที่นี้หมายถึงอย่างไร ?

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายลักษณะของ “ยมกปาฏิหาริย์” ไว้ว่า –

… เป็นปาฏิหาริย์พิเศษที่เฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงกระทำได้ ไม่สาธารณะกับพระสาวกทั้งหลาย เช่น ให้เปลวไฟกับสายน้ำพวยพุ่งออกไป จากพระวรกายต่างส่วนต่างด้าน พร้อมกันเป็นคู่ๆ ให้ลำเพลิงพวยพุ่งจากพระวรกายข้างขวา พร้อมกับอุทกธาราพวยพุ่งจากพระวรกายข้างซ้าย และสลับกันบ้าง ให้ลำเพลิงพวยพุ่งจากพระเนตรข้างขวา พร้อมกับอุทกธาราพวยพุ่งจากพระเนตรข้างซ้าย และสลับกันบ้าง จากพระโสต พระนาสิก พระอังสา พระหัตถ์ พระบาทขวา ซ้าย ตลอดจนช่องพระองคุลี และขุมพระโลมา ก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ในท่ามกลางพระฉัพพรรณรังสี พระผู้มีพระภาคกับพระพุทธนิมิต (พระพุทธรูปที่ทรงเนรมิตขึ้น) ก็สำเร็จพระอิริยาบถที่ต่างกัน เช่น ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงจงกรม พระพุทธนิมิตประทับยืนบ้าง ประทับนั่งบ้าง ทรงไสยาสน์บ้าง ขณะที่พระพุทธนิมิตทรงไสยาสน์ พระผู้มีพระภาคทรงจงกรมบ้าง ประทับยืนบ้าง ประทับนั่งบ้าง ดังนี้เป็นต้น …

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ยมกปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์ที่แสดงเป็นคู่ ๆ เป็นปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทําที่ต้นมะม่วงซึ่งเรียกว่าคัณฑามพพฤกษ์ คือ ทรงบันดาลท่อนํ้าท่อไฟออกจากส่วนของพระกายเป็นคู่ ๆ กัน”

ยมกคู่” ใน ยมกปาฏิหาริย์ จึงหมายถึงท่อนํ้า (อุทกธารา) คู่กับท่อไฟ (อคฺคิกฺขนฺธ) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตพระองค์เป็นคู่ๆ เช่น พระพุทธเจ้าประทับนั่งคู่กัน 2 องค์ ประทับยืนคู่กัน 2 องค์ บรรทมคู่กัน 2 องค์ เป็นต้น อย่างในภาพที่จิตรกรบางท่านเขียนขึ้นดังที่เรามักเห็นกันคุ้นตา

ทดสอบความเข้าใจ –

: เข้าใจถูกว่า “เข้าใจผิด” – ปลอดภัย

: เข้าใจผิดว่า “เข้าใจถูก” – อันตราย

—————-

(เนื่องมาจากคำปรารภของท่านอาจารย์ Napalai Suwannathada)

27-3-57

ต้นฉบับ