รัฏฐาธิปัตย์ (บาลีวันละคำ 694)
รัฏฐาธิปัตย์
อ่านว่า รัด-ถา-ทิ-ปัด
ประกอบด้วยคำว่า รัฏฐ + อธิปัตย์
“รัฏฐ” บาลีเขียน “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” หรือ “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง) ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
“อธิปัตย์” บาลีเป็น “อธิปเตยฺย” (อะ-ทิ-ปะ-เต็ย-ยะ) ประกอบขึ้นจากคำว่า อธิ (ยิ่งใหญ่) + ปติ (เจ้าของ, เจ้านาย) + ณฺย (ปัจจัย แปลว่า การ-, ความ-)
: อธิ + ปติ = อธิปติ + ณฺย = อธิปเตยฺย
ศัพท์นี้ในคัมภีร์ใช้เป็น “อาธิปเตยฺย” ก็มี (ทีฆะ อ เป็น อา : อธิ > อาธิ-)
“อธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยว่า “อธิปไตย” (อะ-ทิ-ปะ-ไต, อะ-ทิบ-ปะ-ไต) พจน.54 บอกไว้ว่า –
“อธิปไตย : (คำนาม) อํานาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน. (ป. อธิปเตยฺย ว่า ความเป็นใหญ่ยิ่ง). (อ. sovereignty)”
“อธิปเตยฺย” นิยมเขียนอีกรูปหนึ่งว่า “อธิปัตย์” (อะ-ทิ-ปัด) : –ปเตยฺย > –ปัตย์
คำว่า “อธิปัตย์” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
รัฏฐ + อธิปัตย์ = รัฏฐาธิปัตย์
ข้อสังเกต :
(1) ปกติ “รฏฺฐ” ในภาษาไทย ถ้าอ่านว่า “รัด” หรือ “รัด-ถะ” และไม่ได้สนธิ คือเชื่อมเสียง -ถะ เข้ากับสระพยางค์แรกของคำที่มาต่อ ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ”
(2) แต่ในกรณีที่มีคำมาสนธิ ท่านให้คงตัวสะกดไว้เหมือนคำเดิม คือเขียนเป็น “รัฏฐ-” เพื่อให้ ฏ เป็นตัวสะกด (= รัฏ) และให้ ฐ เป็นตัวเชื่อมเสียง (ฐ + อา = ฐา) เพราะถ้าตัด ฏ ปฏัก ออก ฐ ไม่สามารถเป็นทั้งตัวสะกดและตัวเชื่อมเสียงได้ (คือไม่สามารถเป็นทั้ง “รัฐ-” และ “-ฐา” ได้พร้อมๆ กัน)
“รัฏฐาธิปัตย์” แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นใหญ่ยิ่งในประเทศ” หมายถึง “อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ”
คำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ตามรูปศัพท์เป็นอาการนาม แต่มักเข้าใจกันว่าหมายถึงตัวบุคคล คือหมายถึง “ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ” หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ใครมีอำนาจเด็ดขาดในบ้านเมือง คนนั้นแหละคือ “รัฏฐาธิปัตย์”
“รัฏฐาธิปัตย์” ตรงกับคำอังกฤษว่า sovereignty
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล sovereignty เป็นบาลีว่า –
(1) ekarajja – เอกรชฺช (เอ-กะ-รัด-ชะ) แปลว่า ความเป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว เป็นคำเดียวกับที่เราใช้ว่า -เป็น “เอกราช”
(2) issariyādhipacca – อิสฺสริยาธิปจฺจ (อิด-สะ-ริ-ยา-ทิ-ปัด-จะ) แปลว่า ความยิ่งใหญ่ด้วยเสรีภาพ คือทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องกลัวใคร
: เล็กไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก
————————
(ตามคำถามของ Choho Shinawatra)
11-4-57