บาลีวันละคำ

ประสบการณ์ (บาลีวันละคำ 700)

ประสบการณ์

จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 1 ฉบับที่ 10, ตุลาคม 2532 กล่าวถึงที่มาของคำว่า “ประสบการณ์” ไว้ตอนหนึ่งว่า –

คำ “ประสบการณ์” เป็นศัพท์บัญญัติมาจากภาษาอังกฤษว่า experience แต่เดิมกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้บัญญัติให้ใช้คำว่า “ประสพการณ์” (อ่านว่า ประ-สบ-พะ-กาน) ต่อมาเมื่อคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน ขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษาที่ทางกรมวิชาการได้จัดทำขึ้นมาให้รับรอง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้แก้ไขศัพท์บัญญัติคำนี้ใหม่เนื่องจากความหมายของคำ “ประสพการณ์” ไม่ตรงกับความหมายของคำ experience อย่างแท้จริง

คำว่า “ประสพการณ์” เกิดจากการสมาสคำ “ประสพ” กับคำ “การณ์” คำ “ประสพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่า “น. การเกิดผล.” มาจากภาษาบาลีว่า ปสว ภาษาสันสกฤตว่า ปฺรสว ส่วน “การณ์” แปลว่า “น. เหตุ, เค้า, มูล.” เมื่อเข้าสมาสกันแล้วก็มีความหมายว่า “เหตุแห่งการเกิดผล” ซึ่งไม่ตรงกับความหมายของ experience

คณะกรรมการฯ จึงแก้ไขคำนี้ใหม่เป็น “ประสบการณ์” (อ่านว่า ปฺระ-สบ-กาน) ซึ่งเกิดจากการประกอบคำ “ประสบ” ซึ่งเป็นคำไทยเข้ากับคำ “การณ์” คำว่า “ประสบ” พจนานุกรมให้ความหมายว่า “ก. พบ, พบปะ, พบเห็น.” เมื่อรวมกันเข้าจึงเป็น “ประสบการณ์” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “การได้พบเหตุการณ์” ซึ่งค่อนข้างตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษของคำ “experience”

(จบข้อความจาก จดหมายข่าวฯ)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล experience เป็นบาลี และ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำบาลีเป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –

(น. = คำนาม, ก. = คำกริยา, คำบาลีตัวหนาคือคำที่แปลมาจาก experience)

(1) วินฺทน (น.), วินฺทติ (ก.) to know, to find (ทราบ, พบสิ่งที่มองหา, ได้รับผล)

(2) อนุภวน (น.), อนุภวติ (ก.) to come to or by, to undergo, suffer (feel), get, undertake, partake in, experience (ประสบหรือได้มา, เสวย, (รู้สึก) เป็นทุกข์, ได้รับ, ยอมรับ, เข้าร่วม, มีประสบการณ์)

(3) ปฏิสํเวเทติ (ก.) to feel, experience, undergo, perceive (รู้สึก, ประสบ, ได้รับ, สังเกตเห็น)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ประสบ : (คำกริยา) พบ, พบปะ, พบเห็น.

(2) ประสบการณ์ : (คำนาม) ความจัดเจนที่เกิดจากการกระทําหรือได้พบเห็นมา.

(3) ประสพ : [ปฺระสบ] (คำนาม) การเกิดผล. (ส. ปฺรสว; ป. ปสว).

คำว่า “ปสว” (ปะ-สะ-วะ) ในภาษาไทยแปลงรูปเป็น “ประสพ” บาลีแปลว่า การไหลออก, การพุ่งออก, การทำให้เกิด, การเกิด, ผลิตผล, การได้รับผล, ผลที่เกิด, ลูกหลาน, ดอกไม้

ปสว” เป็นคำนาม ถ้าเป็นกริยาในบาลี รูปคำจะเป็น “ปสวติ” (ปะ-สะ-วะ-ติ) แปลว่า ให้กำเนิด, ก่อให้เกิด, ผลิต (to bring forth, give birth to, beget, produce)

ตัวอย่างประโยคที่อาจช่วยให้เข้าใจความหมายของ ปสวติ > ปสว > ประสพ ได้ชัดเจนขึ้น เช่น –

ปาปํ ปสวติ = ทำบาป (to commit sin) > การทำบาป

ปุญฺญํ ปสวติ = ทำบุญ (to produce merit) > การทำบุญ

เวรํ ปสวติ = ก่อให้เกิดเวร (to beget hatred) > การก่อให้เกิดเวร

ข้อสังเกต :

(1) ยุติว่า “ประสบการณ์” –สบ ใบไม้ และ ประสบ ที่เป็นคำกริยาในภาษาไทย เช่น เขาประสบความสำเร็จ ขอให้ประสบสุขโดยทั่วกัน ก็ใช้ ใบไม้ ทั้งสิ้น

(2) “ประสพ” – พาน นั้นท่านว่าเป็นคำนาม ภาษาไทยที่ใช้ “ประสพ” เป็นคำนามยังไม่เห็นตัวอย่าง เพื่อความชัดเจนน่าจะต้องเติม “การ-” เข้าข้างหน้า เป็น “การประสพ-” (แปลว่า “การเกิดผล”) เช่น “การประสพความสำเร็จในครั้งนี้…”

(3) แต่ก็คงจะเกิดข้อสงสัยอีกว่า “เขาประสบความสำเร็จ” ใช้ ใบไม้ แต่ “การประสพความสำเร็จ” ทำไมใช้ พาน ทั้งๆ ที่ความหมายเหมือนกัน

(4) เพราะฉะนั้น ใช้ “ประสบ ใบไม้ ทั้งหมดก็หมดปัญหา ส่วน “ประสพ พาน ก็เก็บไว้ประดับพจนานุกรมต่อไป

ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า –

: ไม่ต้องพูดทุกเรื่องที่รู้

: แต่ต้องรู้ทุกเรื่องที่พูด

17-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย