จิตอาสา (บาลีวันละคำ 702)
จิตอาสา
(บาลีไทย)
อ่านว่า จิด-อา-สา-
ประกอบด้วย จิต + อาสา
“จิต” บาลีเป็น “จิตฺต (จิด-ตะ) ความหมายในที่นี้แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่คิด” “สิ่งที่รู้อารมณ์” “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้ทำอะไรได้แปลกๆ” ความหมายนี้คือที่เราคุ้นกัน หมายถึง จิต, ใจ หรือความคิด (the heart, mind, thought)
“อาสา” บาลีเขียนและอ่านเหมือนกัน แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุให้อยาก” หมายถึง ความจำนง, ความหวัง, ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้, ความคาดหวัง (expectation, hope, wish, longing, desire)
จิต + อาสา = จิตอาสา เป็นการเอาคำบาลีมาประสมกันแบบไทย แล้วให้ความหมายใหม่ คือ หมายถึง การมีเจตนาหรือมีน้ำใจที่จะช่วยทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในทางดีงาม ทั้งนี้โดยไม่รับสิ่งตอบแทนเพื่อตัวเอง
เป็นที่เข้าใจกันว่า คำว่า “จิตอาสา” คิดขึ้นจากคำอังกฤษว่า volunteer
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล volunteer เป็นบาลีว่า –
(1) “สจฺฉนฺทการี” (สัด-ฉัน-ทะ-กา-รี) = “ทำโดยมีความพอใจร่วมกัน”
(2) “เสจฺฉาเสวก” (เสด-ฉา-เส-วะ-กะ) = “ผู้มาร่วมกินร่วมนอน (เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง) ด้วยความปรารถนาร่วมกัน”
คำว่า volunteer มีคำที่ใช้ในภาษาไทยว่า “อาสาสมัคร” พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) (คำวิเศษณ์) ที่เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ เช่น ทหารอาสาสมัคร
(2) (คำนาม) บุคคลที่เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ เช่น เขาเป็นอาสาสมัคร
การที่มีผู้คิดคำ “จิตอาสา” ขึ้นมาใหม่ อาจมีเจตนาจะให้แตกต่างจาก “อาสาสมัคร” กล่าวคือ “อาสาสมัคร” เน้นหนักทางเสียงภัย หรือฝ่าย “บู๊” ส่วน “จิตอาสา” เน้นหนักทางบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หรือฝ่าย “บุ๋น”
การบำเพ็ญประโยชน์ในลักษณะนี้มีคำที่เคยใช้กันอีกคำหนึ่ง คือ “จิตสาธารณะ” ใช้ในความหมายว่า การตระหนักรู้และคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมและสังคมเห็นคุณค่าของการเอาใจใส่ดูแลรักษาสิ่งต่างๆ ที่เป็นของส่วนรวม
ในทางธรรม มีคำที่ท่านใช้กันว่า “ปรหิตปฏิบัติ” (ปะ-ระ-หิ-ตะ-ปะ-ติ-บัด) ประกอบด้วยคำว่า ปร + หิต + ปฏิบัติ แปลว่า “การลงมือกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น”
จิตอาสา > อาสาสมัคร > จิตสาธารณะ > ปรหิตปฏิบัติ
ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร
: ตัดสินกันด้วยหัวใจที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวม
#บาลีวันละคำ (702)
19-4-57