บาลีวันละคำ

เจตนา (บาลีวันละคำ 704)

เจตนา

ภาษาไทยอ่านว่า เจด-ตะ-นา

บาลีอ่านว่า เจ-ตะ-นา

เจตนา” รากศัพท์มาจาก จิตฺ (ธาตุ = คิด, รู้, จงใจ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ จิ-) เป็น เอ, แปลง ยุ เป็น อน, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จิตฺ > เจต + ยุ > อน = เจตน + อา = เจตนา แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

เจตนา : (คำกริยา) ตั้งใจ, จงใจ, มุ่งหมาย. (คำนาม) ความตั้งใจ, ความจงใจ, ความมุ่งหมาย”

ในหลักกฎหมาย มีภาษิตละตินว่า acta exteriora indicant interiora secreta

แปลเป็นอังกฤษว่า exterior act indicates interior secret

แปลเป็นไทยว่า “การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสิ่งที่แฝงเร้นอยู่ภายใน” หรือ “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” หรือ “กรรมส่อเจตนา

หมายความว่า การกระทำที่ปรากฏย่อมเป็นเครื่องชี้ว่าในใจมีเจตนาอย่างไร ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำแนกเจตนาฆ่า (ประสงค์ต่อความตาย) กับเจตนาทำร้าย (ประสงค์เพียงให้ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บ)

มีผู้อธิบายว่า หลักกฎหมายดังกล่าวนี้ตรงกับพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั่นแหละเป็นกรรม”

ความจริงแล้ว หลักทั้งสองนี้สวนทางกัน กล่าวคือ –

(1) หลัก “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” ใช้การกระทำตัดสินเจตนา ซึ่งยังมีทางผิดพลาดได้ในกรณีแต่งการกระทำและองค์ประกอบให้สมจริงเพื่อพรางเจตนาที่แท้จริง

(2) ส่วนหลัก “เจตนาเป็นกรรม” ใช้เจตนาตัดสินการกระทำ กล่าวคือ ผู้ทำเป็นผู้ตัดสินการกระทำของตนด้วยตัวเอง ซึ่งไม่มีทางผิดพลาดเลย กล่าวล้อสำนวนกฎหมายก็ว่า จำเลยอาจหลอกผู้พิพากษาได้สำเร็จ แต่ไม่อาจที่จะหลอกตัวเองได้สำเร็จ

พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาสำหรับผู้ซื่อตรงเท่านั้น

: ถ้ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ก็ยังไม่ใช่ชาวพุทธที่ดี

#บาลีวันละคำ (704)

21-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *