สถาบัน (บาลีวันละคำ 706)
สถาบัน
อ่านว่า สะ-ถา-บัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถาบัน : (คำที่ใช้ในสังคมศาสตร์) สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจําเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง สถาบันการเงิน. (ส.)”
คำว่า “(ส.)” ในวงเล็บ หมายถึง สันสกฤต คือ พจน.54 บอกว่า คำว่า “สถาบัน” มาจากภาษาสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺถาปน” ซึ่งรูปคำตรงกับ “สถาบัน” เป็นคำนาม แสดงความหมายเป็นภาษาไทยและอังกฤษ ว่า –
“การวาง, การกำหนดหรือตั้ง; การบัญชา, การจัด; บ้าน, ที่อาศรัย; การจัดบทละคอนหรือโรงละคอน; placing, fixing or erecting; ordering, directing; a dwelling, a habitation; arranging a drama, or stage management”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า “สถาบัน” คำอังกฤษคือ institute
โปรดสังเกตว่า ในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำแปล “สฺถาปน” เป็นอังกฤษว่า institute
“สฺถาปน” ตรงกับบาลีว่า “ฐาปน” (ถา-ปะ-นะ) รูปเดิมคือ “ฐาน”
“ฐาน” (ถา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งแห่งผล”
ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส
ฐาน > ฐาปน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ตั้งขึ้น” เป็นคำเดียวกับ “สถาปนา” หมายถึง การก่อตั้ง, การแต่งตั้ง, การทำให้เกิดมีขึ้น
เป็นอันว่า ฐาปน > สฺถาปน ในบาลีสันสกฤต มีความหมายอย่างกว้าง
แต่เมื่อมาเป็น “สถาบัน” ในภาษาไทยก็มีความหมายแคบเข้า คือหมายถึง “สิ่งซึ่งสังคมจัดตั้งให้มีขึ้น” (ดูความหมายตาม พจน.ข้างต้น)
ที่เด่นมากก็นิยมใช้กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็น- สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์
ตามกระแสสังคม-การเมืองทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยคำว่า “สถาบัน” เช่น “หมิ่นสถาบัน” “ล้มล้างสถาบัน” ผู้คนก็เข้าใจความหมายแคบเข้าไปอีก คือเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
ไม่ว่าจะในความหมายกว้างหรือแคบ “สถาบัน” ย่อมมีความสำคัญต่อผู้คนในสังคมเสมอ
: ผู้คิดทำลายสถาบันในสังคมของตัวเอง
: ไม่ต่างอะไรกับคนที่พยายามตัดเถาวัลย์ที่ตนกำลังโหนอยู่
#บาลีวันละคำ (706)
23-4-57