สังเกต (บาลีวันละคำ 710)
สังเกต
ทำไมจึงไม่มีสระ อุ
คนมักเขียนผิดเป็น “สังเกตุ” – มีสระ อุ
“สังเกต” คำที่ถูกต้อง ไม่ต้องมีสระ อุ เพราะมาจากคำบาลีสันสกฤตว่า “สงฺเกต” อ่านว่า สัง-เก-ตะ ไม่ใช่ สงฺเกตุ
“สงฺเกต” แปลตามศัพท์ว่า “รู้ร่วมกัน” “รู้พร้อมกัน” รากศัพท์มาจาก –
(1) สํ (= ร่วมกัน, พร้อมกัน) + กิ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง อิ (ที่ กิ) เป็น เอ
: สํ > สงฺ + กิ = สงฺกิ > สงฺเก + ต = สงฺเกต
(2) สํ + กิต (ธาตุ = รู้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น งฺ, แปลง อิ (ที่ กิต) เป็น เอ
: สํ > สงฺ + กิต = สงฺกิต > สงฺเกต + อ = สงฺเกต
จะเห็นได้ว่า รากศัพท์ไม่ได้มีสระ อุ ที่ ต แต่ประการใด
สงฺเกต หมายถึง การกำหนด, ความตกลง, การนัดหมาย, สถานที่นัดหมาย, ที่นัดพบ (intimation, agreement, engagement, appointed place, rendezvous)
ในภาษาไทยเขียนว่า “สังเกต” (บาลี = สงฺ– ไทย = สัง-) พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
“สังเกต : (คำกริยา) กําหนดไว้, หมายไว้, เช่น ทำเครื่องหมายไว้เป็นที่สังเกต; ตั้งใจดู, จับตาดู, เช่น ไม่ได้สังเกตว่าวันนี้เขาแต่งตัวสีอะไร สังเกตกิริยาท่าทางเขาไว้ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย”
ข้อสังเกต :
เหตุที่มักเขียน “สังเกต” เป็น “สังเกตุ”
1. ต ที่เป็นตัวสะกดและมีสระ ที่เราคุ้นกันมาก ก็เช่น ชาติ (ชาด) ธาตุ (ทาด) เหตุ (เหด) โดยเฉพาะ “เหตุ” โครงสร้างของรูปคำและระดับเสียงเข้ากับ “เกตุ” ได้พอดี พอเห็นคำว่า “สังเกต” (ไม่มีสระ อุ = ถูก) ใจก็สั่งให้เขียนเป็น “สังเกตุ” (มีสระ อุ = ผิด) ตามความเคยชินที่ซึมซับมาจากคำอื่นๆ ข้อนี้คือที่เรียกกันว่า มีแนวเทียบผิด
2. เราคุ้นกับที่มาจากบาลีสันสกฤตซึ่งมี ต เต่า เป็นตัวสะกดและมีตัวตาม เช่น
– มิตร (คำว่า “นิมิต” มักจะเขียนผิดเป็น “นิมิตร”)
– เนตร (เทียบคำว่า “เขต” เคยเขียนเป็น “เขตร”)
– วิจิตร (คำว่า “จิตใจ” เคยเขียนเป็น “จิตรใจ”)
ดังนั้น พอจะเขียน “สังเกต” ความรู้สึกจึงบอกว่าต้องมีพยัญชนะหรือสระตามมาอีก
3. ประกอบกับการที่คนทั่วไปมักไม่ระแวงหรือไม่ชอบสงสัยว่าคำในภาษาเดิมจะสะกดอย่างไร จึงพากันเขียนผิดเพลินไปโดยไม่ได้สังเกต
(ดูเพิ่มเติมที่ “สงฺเกต” บาลีวันละคำ (380) 29-5-56)
: สังเกตได้ทั้งพิภพจบสากล
: แต่ใจตนไม่สังเกต สังเวชใจ !
#บาลีวันละคำ (710)
27-4-57