อยฺย (บาลีวันละคำ 711)
อยฺย
มีผู้สงสัยว่า คำอุทานที่ออกเสียงว่า “อั๊ยย่ะ” ในบาลีมีหรือไม่
(สะกดเป็น อั้ยย่ะ ไอหยา ไอ้หยา อ้ายย้า ก็มี, คำนี้ยังไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จึงไม่อาจยุติได้ว่าเขียนอย่างไร)
บาลีมีคำว่า “อยฺย” อ่านว่า ไอ-ยะ มีรากศัพท์มาจาก –
(1) อย (ธาตุ = ไป, ถึง) + ย ปัจจัย
: อย + ย = อยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ควรเข้าไปหา” “ผู้อันพวกสัตบุรุษเข้าไปหา”
(2) อย (ธาตุ = รู้) + ย ปัจจัย
: อย + ย = อยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันคนรู้จักทั่วไปว่าเป็นผู้ประเสริฐ”
นักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมแปล “อยฺย” ว่า “พระผู้เป็นเจ้า”
“พระผู้เป็นเจ้า” ในคำแปลนี้ไม่ได้หมายถึง god แต่หมายถึง พระสงฆ์, นักบวช หรือที่เราเรียกว่า “พระคุณเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า “อยฺย” เป็นคำที่กลายเสียงมาจาก “อริย” (อะ-ริ-ยะ) = ผู้เจริญ, ผู้ประเสริฐ และบอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) เป็นคำนาม : gentleman, sire, lord, master (สุภาพบุรุษ, เจ้าเหนือหัว, เจ้านาย, หัวหน้า)
(2) เป็นคุณศัพท์ : worthy, gentlemanly, honourable (ทรงคุณค่า, เป็นสุภาพบุรุษ, ทรงเกียรติ)
“อยฺย” ในภาษาบาลีเป็นคำเรียกผู้ที่พูดด้วย (= you) และผู้ที่ถูกพูดถึง (= he, she, they) ใช้ในฐานะดังนี้ –
1. เป็นคำชาวบ้านเรียกนักบวช ตรงกับที่เรานิยมพูดว่า “พระคุณเจ้า” ในคัมภีร์พบว่าภิกษุณีใช้เรียกภิกษุด้วย
2. เป็นคำผู้น้อยใช้เรียกเจ้านาย “เจ้านาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงราชากับสามัญชน แต่หมายถึงคนรับใช้กับนาย หรือผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา :
– ในคัมภีร์จับคู่ “อยฺย” กับ “ทาส” หมายถึงถ้าใครมี “ทาส” (= คนรับใช้) คนรับใช้ก็จะเรียกผู้นั้นว่า “อยฺย”
– ภรรยาเรียกสามีก็ใช้คำว่า “อยฺย” ด้วย
3. ใช้เป็น “อาลปนะ” คำทักที่ชุมนุมแบบสุภาพ : อยฺยา = ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ! (Ladies and gentlemen)
“อยฺย” ในภาษาบาลีหมายถึง พระคุณเจ้า, ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, เจ้านาย, ผู้สูงศักดิ์, ท่านผู้มีเกียรติ
“อยฺย” ใช้เป็นคำทักมีความหมายเท่ากับ “คุณครับ -” “ท่านครับ -” หรือ “ขอประทานโทษนะครับ -” นั่นเอง
“อยฺย” ในภาษาบาลีไม่ใช่คำอุทานแบบ อั๊ยย่ะ !
: เหมือนในทางดี ดีกว่าดีในทางเหมือน
#บาลีวันละคำ (711)
28-4-57