บาปกรรม (บาลีวันละคำ 712)
บาปกรรม
บาลีเป็น “ปาปกมฺม” อ่านว่า ปา-ปะ-กำ-มะ
ประกอบด้วย ปาป + กมฺม
(๑) “ปาป” รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา) + อ ปัจจัย, ลง ป อาคม
: ปา + อ + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นแดนรักษาตนแห่งเหล่าคนดี” คือคนดีจะป้องกันตนโดยออกห่างแดนชนิดนี้
(2) ปา (ธาตุ = รักษา) + ป ปัจจัย
: ปา + ป = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่รักษาอบายภูมิไว้” คือเพราะมีคนทำกรรมชนิดนี้ อบายภูมิจึงยังคงมีอยู่
(3) ป (= ทั่ว, ข้างหน้า) + อป (ธาตุ = ให้ถึง) + อ ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อ ที่ ป) ทีฆะสระหลัง (คือ อ ที่ อป เป็น อา-)
: ป + อป > อาป = ปาป + อ = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ยังผู้ทำให้ถึงทุคติ”
(4) ป (= ทั่ว, ข้างหน้า) + เป (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ทีฆะ อ (ที่ ป) เป็น อา, ลบ เอ ที่ เป
: ป > ปา + เป > ป = ปาป + ณ = ปาป แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นเหตุไปสู่อบาย”
ปาป หมายถึง ความชั่ว, ความเลวร้าย, การทำผิด, (evil, sin, wrong doing); เลวร้าย, เป็นอกุศล, ชั่ว, เลวทราม, บาป (evil, bad, wicked, sinful)
ในภาษาไทยใช้ว่า “บาป” (ปา– เป็น บา-) อ่านว่า บาบ ถ้ามีคำอื่นมาสมาส อ่านว่า บาบ-ปะ- พจน.54 บอกความหมายว่า –
“บาป, บาป– : (คำนาม) การกระทําผิดหลักคําสอนหรือข้อห้ามในศาสนา; ความชั่ว, ความมัวหมอง.(คำวิเศษณ์) ชั่ว, มัวหมอง, เช่น คนใจบาป”
(๒) “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
ปาป + กมฺม = ปาปกมฺม เขียนแบบไทยเป็น “บาปกรรม” อ่านตามหลักภาษาว่า บาบ-ปะ-กำ แต่ พจน.54 บอกคำอ่านว่า บาบ-กำ (เทียบคำว่า “บาปเคราะห์” ให้อ่านว่า บาบ-ปะ-เคฺราะ “บาปมิตร” ให้อ่านว่า บาบ-ปะ-มิด แต่ บาปกรรม ไฉนไม่อ่านว่า บาบ-ปะ-กำ)
“ปาปกมฺม – บาปกรรม” แปลว่า การทำชั่ว, บาป, ความผิด, ความชั่วร้าย (evil doing, wickedness, sin, crime)
ดูเพิ่มเติมที่ –
(๑) “กรรม” บาลีวันละคำ (480) 7-9-56
(๒) “กรรม กับ กิริยา” บาลีวันละคำ (609) 15-1-57
: บาปกรรมไม่หมดอายุความ
: แม้จะเป็นผู้สำเร็จ ก็หนีบาปกรรมไม่สำเร็จ
#บาลีวันละคำ (712)
29-4-57