บาลีวันละคำ

พรรณนา (บาลีวันละคำ 713)

พรรณนา

อ่านว่า พัน-นะ-นา

บาลีเป็น “วณฺณนา” อ่านว่า วัน-นะ-นา

วณฺณนา” รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = กล่าว, สรรเสริญ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ลง อา การันต์ เครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วณฺณ + ยุ > อน = วณฺณน + อา = วณฺณนา แปลตามศัพท์ว่า “อันท่านกล่าว” “อันท่านสรรเสริญ” หมายถึง การอธิบาย, การแสดงความเห็น, การขยายความ (explanation, commentary, exposition)

ในภาษาบาลี คำว่า “วณฺณนา” นิยมใช้เป็นชื่อเรียกคัมภีร์อรรถกถา คือคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องราวในพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์ที่แต่งอธิบายเรื่องราวอันใดอันหนึ่ง

เทียบคำในภาษาไทย เช่นหนังสือ “คำอธิบายกฎหมายอาญา”

คำว่า “คำอธิบาย-” ในชื่อหนังสือนี้ ตรงกับคำว่า  “วณฺณนา

โปรดสังเกตคำแปลของฝรั่งที่ว่า –

(1) commentary เป็นคำเดียวกับที่สมัยนี้นิยมพูดทับศัพท์ว่า comment ดังที่ปรากฏชุกชุมในเฟซบุ๊กนี้

(2) exposition เป็นคำเดียวกับ expo ที่เคยพูดกันติดปากอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งหมายถึงงานแสดงสินค้า

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –

exposition (n.), expo (n.)

: คำพรรณนา, คำอธิบาย, การแสดงเหตุผล, การแสดงวัตถุ (เป็นการใหญ่), การแสดงสินค้า (เป็นการใหญ่)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วรฺณน” และ “วรฺณนา” มีคำแปลดังนี้ –

1- วรฺณน : (คำนาม) ‘วรรณน’ การพรรณนา, การแสดงชี้คุณสมบัติหรืออติศัย; การทาสี; การขีดเขียน; สดุดี; describing, pointing out qualities or excellencies; colouring, painting, writing; praise.

2- วรฺณนา : (คำนาม) ‘วรรณนา’ การพรรณนา; description, describing.

ในภาษาไทยใช้รูปคำอิงสันสกฤตเป็น “พรรณนา” พจน.54 บอกความหมายว่า –

พรรณนา : (คำกริยา) กล่าวเป็นเรื่องเป็นราวอย่างละเอียดให้ผู้ฟังนึกเห็นเป็นภาพ”

ข้อสังเกต :

(1) “พรรณนา” ถ้าเขียนเป็น พรรณา – ไม่มี น หนู โปรดทราบว่าเขียนผิด

(2) “พรรณนา” ถ้าอ่านว่า พัน-ระ-นา หรือ พัน-นา โปรดทราบว่าอ่านผิด คำอ่านที่ถูกต้องคือ พัน-นะ-นา (-นะ- ไม่ใช่ -ระ-)

(3)“พรรณนา” ในภาษาไทยมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ พูดยืดยาวยืดยาดไม่รู้จักจบ เช่น “มัวแต่พรรณนาอยู่นั่นแหละ” หรือพูดพร่ำคร่ำครวญไม่รู้จักหยุด “โอ๊ย ! เอาแต่พรรณนาอยู่ได้ รำคาญ !

: ไม่ต้องพรรณนา

: ถ้ามองตาแล้วรู้ใจ

#บาลีวันละคำ (713)

30-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *